กาฬสินธุ์ประธานกรรมการประเมินราคาไม้พะยูงโต้ประเมินราคายึดหลักวิชาการ

กาฬสินธุ์ประธานกรรมการประเมินราคาไม้พะยูงโต้ประเมินราคายึดหลักวิชาการ

 


เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ ประธานกรรมการประเมินราคาไม้พะยูงโรงเรียน โต้กลับประเมินราคาไม้พะยูงยึดหลักวิชาการ เทียบเคียงราคาไม้ยืนต้นกับธนาคารต้นไม้ค้ำประกันกับ ธกส. และตามประกาศสำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ส่วนการซื้อขายไม้พะยูงในโรงเรียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เตรียมเอกสารครบพร้อมเข้าชี้แจงกับ ปปช.แล้ว ขณะที่ สตง.เริ่มขยับ ประชุมลับเดินหน้าตรวจสอบเส้นทางการเงินขายไม้พะยูง


จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการพบเหตุตัดไม้พะยูงขายในโรงเรียนและที่ราชพัสดุจำหน่ายหลายแห่ง โดยทุกแห่งเป็นการตัดไม้พะยูงโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ประเมินราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ยังส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ล่าสุด องค์กรอิสระ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ และ สตง. ร่วมสางคดี โดยเฉพาะประเด็นการขออนุญาตตัด การให้อนุญาตตัด ราคาซื้อขาย และเชื่อมโยงพ่อค้า นายทุนจีน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าว ได้รับการเปิดเผยจากนายประจัน ดาวังปา เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ ประธานกรรมการประเมินราคาไม้พะยูงในโรงเรียน กล่าวว่า การที่ตนเข้ามาเป็นประธานกรรมการประเมินราคาไม้พะยูงในโรงเรียน ได้รับการประสานจากผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 โดยมีระเบียบว่าการประเมินราคากลางไม้ที่ขออนุญาตตัดจำหน่ายเพื่อนำรายได้เข้าหลวงนั้น ประกอบด้วยคณะกรรมการร่วม 3 คนคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ ฝ่ายธนารักษ์ และฝ่ายโรงเรียน


นายประจันกล่าวอีกว่า สำหรับหลักเกณฑ์ที่ตนใช้ในการประเมินราคาไม้พะยูงในโรงเรียน ก่อนทำการตัดจำหน่ายนั้น ยึดตามหลักวิชาการ โดยเทียบเคียงราคาไม้ยืนต้นกับธนาคารต้นไม้ค้ำประกันกับ ธกส. และตามประกาศสำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แต่ละต้นวัดจากโคนต้นไม้ถึงระดับหน้าอก ประมาณ 1.30 เมตร ขนาดวงรอบ 50 เซนติเมตรขึ้นไป ได้ค่าทดแทนต้นละ 1,280 บาท ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนัก ส่วนที่สูงขึ้นไปหรือการตกลงราคาทั้งหมด ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนหรือธนารักษ์ จะตกลงกับพ่อค้าที่มารับซื้อไม้


นายประจันกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ไม้พะยูง ไม้สัก เป็นไม้หวงห้ามส่งออก ในส่วนที่มีการประเมินราคาไม้พะยูงที่สูงกว่าที่ตนประเมินไว้นั้น คงจะเป็นการประเมินตามราคาไม้ของกลางที่ตรวจยึด และเป็นราคาส่งออกต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตนทำหน้าที่ประเมินราคาไม้พะยูง ตามเกณฑ์ยืนต้นโดยยึดหลักวิชาการ เทียบเคียงราคาไม้ยืนต้นกับธนาคารต้นไม้ค้ำประกันกับ ธกส. และตามประกาศสำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดังกล่าว โดยได้รับการประสานและแต่งตั้งจากผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เท่านั้น ส่วนราคาซื้อขายเท่าใด อย่างไร ตนไม่ทราบ และจะขอชี้แจงกับ ป.ป.ช.เท่านั้น


“ทั้งนี้ ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการหน่ายไม้พะยูงยืนต้น โดยได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยอาศัยคู่มือการประเมินมูลค่าต้นไม้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศสำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องบัญชีราคากลางต้นไม้และพืชผล พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 มาใช้ประกอบการพิจารณาอ้างอิง และเทียบเคียงกับสถานการณ์และราคาไม้ที่ซื้อขายในราคาภาคเอกชน โดยรายละเอียดคำชี้แจง ตนได้ส่งประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) แล้ว” นายประจันกล่าวในที่สุด


ขณะเดียวกัน ที่สำนักตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.จ.กาฬสินธุ์ มีการประชุมภายใน กรณีได้รับหนังสือจากทางจังหวัด เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงโรงเรียน 3 ประเด็นคือ (1) การขออนุญาตและการให้อนุญาตตัด (2) การประเมินราคา และ (3) เส้นทางการเงิน โดยในเบื้องต้นจะร่วมพิจารณา ว่าประเด็นไหนอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ สตง.ประจำจังหวัด ที่สามารถจะดำเนินการได้เลย หรือประเด็นไหนอยู่นอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ ก็จะเสนอต่อ สตง.ส่วนกลาง ระหว่างนี้อยู่ในช่วงประชุมพิจารณา ทั้งนี้ ในการตรวจสอบ ก็จะยึดตามข้อสรุปในสำนวนของคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก และชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ที่มีนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์เป็นประธาน โดยประสานทั้ง ป.ป.ช.-ป.ป.ท-และดีเอสไอ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน