สีสัน..คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดการแข่งขันขูดมะพร้าว ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

สีสัน..คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดการแข่งขันขูดมะพร้าว ประเภทนักศึกษา และบุคลากร ในงานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ แต่ละทีมแต่งกายด้วยชุดไทยแหวกแนว ออกลีลาเต้นไม่ธรรมดา

 


สีสัน..บรรยากาศการแข่งขันขูดมะพร้าว ด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวโบราณ หรือที่ชาวใต้เรียกว่า “เหล็กขูด” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ “สืบสารทร่วมสมัย” โดยจัดขึ้นที่ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งกิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทนักศึกษา และประเภทบุคลากร ของมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ รวมถึงจากมหาวิทยาลัยทักษิณ และ มทร.ศรีวิชัย สงขลา ร่วมแข่งขันกว่า 10 ทีม ทีมละ 3 คน


ซึ่งเมื่อปรากฏโฉมหน้าของผู้เข้าแข่งขัน ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย เพราะแต่ละทีมต่างแต่งกายมาด้วยชุดไทยพื้นเมือง ประดับตกแต่งแหวกแนว มีทั้งชุดคนใต้หิ้วปิ่นโตไปวัด รวมถึงมีชุดไทยสไบเฉียง ชุดพี่คล้าว ทองกวาว สีสันจัดจ้าน หรือแม้กระทั่งชุดหนุมาน เรียกได้ว่า จัดเต็ม..ไม่มีใครยอมใคร


โดยการแข่งขันเริ่มสัญญาณด้วยการบรรเลงเพลงจากวงกลองยาว จังหวะ 3 ช่า แต่ละทีมก็เริ่มนั่งบนกระต่ายขูดมะพร้าว ออกลีลาขูดแบบสุดๆและเมื่อเหนื่อยก็จะสลับสับเปลี่ยนคน กันไปเรื่อยๆ แต่บางทีมก็ขูดทีละน้อย เหมือนไม่ได้มาแข่งเพื่อเอารางวัล เน้นเต้นโชว์สเต็ปรำวง สายย่อเอาความสนุกมากกว่า ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่งที่ส่งเสียงกรี๊ด พร้อมกับเต้นไปด้วยอย่างสุดมันส์เช่นกัน และเพื่อเพิ่มความท้าทายให้กับการแข่งขันในครั้งนี้ คือ ระหว่างการแข่งขันคณะกรรมการจะประกาศให้ใช้ท่าขูดบังคับเป็นระยะๆ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะต้องหันหลังเพื่อขูดมะพร้าว โดยเกณฑ์การให้คะแนน ประกอบด้วย ต้องขูดมะพร้าวให้ได้คุณภาพดี ไม่มีขุย หรือไม่มีเศษเปลือกมะพร้าวลงไปปะปน และต้องได้เนื้อมะพร้าวในปริมาณมาก และการแต่งกายลีลาการขูดต้องดีเลิศ


ทั้งนี้ ผลการแข่งขันปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ประเภทนักศึกษา ได้แก่ทีม คณะนิติศาสตร์ ม.อ. และประเภทบุคลากร ได้แก่ ทีมสถาบันกัลยานิวัฒนาฯ ได้รับรางวัลทีมละ 2,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษ กับรางวัลกองเชียร์ดีเด่น ได้แก่ทีม คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. ส่วนทีมที่ไม่ได้รับรางวัลจะได้เนื้อมะพร้าวที่ขูด และกระต่ายกลับบ้านไป


สำหรับการจัดงานสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ “สืบสารทร่วมสมัย” Way of Life, Way of Foods, and Way Forward จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย คือ คณะศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักการจัดการ นวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบทอด ส่งเสริมประเพณีบุญสารทเดือนสิบ และการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง ให้อยู่ในสังคมถิ่นใต้และสังคมไทยอย่างยั่งยืน เป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ประเพณีบุญสารทเดือนสิบให้แก่นักศึกษา บุคลากร และผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ประเพณีอย่างถูกต้อง


ซึ่งภายในงานได้มีการจัดเสวนา มีนิทรรศการการสืบสารทร่วมสมัย การสาธิตการเล่นหนังตะลุง รวมถึงการทำหัตถกรรมสินค้าพื้นเมือง และกิจกรรมอีกมากมาย ทั้งนี้ งานบุญสารทเดือนสิบ ของพี่น้องชาวใต้ในปีนี้ บุญแรกตรงกับวันที่ 30 กันยายน 2566 และบุญหลัง ตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 2566

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา