พิธีสวนสนามเนื่องในโอกาสรับ – ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ และการมอบการบังคับบัญชา

ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ให้ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นั้น

 

 

กองทัพอากาศ ได้จัดพิธีรับ – ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระหว่าง พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเกษียณอายุราชการ กับ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ท่านใหม่) โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศ ข้าราชการทหารอากาศ ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ สมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และแขกผู้มีเกียรติร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ อุทยานการบินกองทัพอากาศ

โดยพลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ส่งธงประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ และแฟ้มเอกสารรับ – ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้แก่ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ท่านใหม่) เพื่อแสดงถึงการส่งมอบหน้าที่และการบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการ ในโอกาสนี้ กองทัพอากาศได้จัดพิธีสวนสนามเพื่อเป็นการเทิดเกียรติ ซึ่งประกอบด้วย

กำลังพลสวนสนามเพื่อเป็นเกียรติ จำนวน 4 กองพัน ดังนี้
– กองพันที่ 1 จัดกำลังพลจาก กรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
– กองพันที่ 2 จัดกำลังพลจาก กองนักเรียน โรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
– กองพันที่ 3 จัดกำลังพลจาก กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
– กองพันที่ 4 จัดกำลังพลจาก กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

และจัดขบวนยานยนต์สวนสนาม จำนวน 29 คัน ดังนี้
– รถผู้บังคับกองพันยุทธยานยนต์ จำนวน 1 คัน จากกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์
หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
– รถจักรยานยนต์สารวัตรทหารอากาศ จำนวน 2 คัน จากสารวัตรทหารอากาศ
– รถยนต์สารวัตรทหารอากาศ จำนวน 2 คัน จากสารวัตรทหารอากาศ
– รถสายตรวจยานยนต์เบา จำนวน 4 คัน จากกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
– รถชุดปฏิบัติการ จำนวน 4 คัน จากกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
– รถโจมตี (รถบันได) จำนวน 4 คัน จากกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
– รถยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน จำนวน 4 คัน จากกรมต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์
หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
– รถเกราะ V-150 จำนวน 4 คัน จากกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
– รถเกราะ Condor จำนวน 4 คัน จากกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

นอกจากนี้ยังจัดให้มีการสวนสนามทางอากาศ โดยจัดอากาศยานของกองทัพอากาศ ทำการบินผ่านพิธีในห้วงเวลาที่ 1 ประกอบด้วย หมู่บิน FINALE FLYING ซึ่งเป็นการประกอบกำลังของอากาศยานจำนวน 10 เครื่อง ดังนี้
– เครื่องบินฝึกแบบที่ 2 (T-50) จำนวน 3 เครื่อง จากฝูงบิน 401 กองบิน 4
– เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 ก (F-16) จำนวน 3 เครื่อง จากฝูงบิน 403 กองบิน 4
– เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 ก (Gripen 39D) จำนวน 4 เครื่อง จากฝูงบิน 701 กองบิน 7
และห้วงเวลาที่ 2 ประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 ก (Gripen 39D) จำนวน 1 เครื่อง จากฝูงบิน 701 กองบิน 7

สำหรับ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ คนที่ 30 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 นักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 31 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เป็นนักบิน ทำการบินกับเครื่องบิน CT-4A,T-37 Twinny, A-37B Dragonfly, F-5E/F Tiger shark, F-16A/B Fighting Falcon และ JAS-39C Gripen มีชื่อนามเรียกขานว่า Armstrong โดยมีประวัติรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ดังนี้ ครูการบินและนักบินลองเครื่อง (F-16), ผู้บังคับฝูง 403 กองบิน 4 ตาคลี
(F-16), รองผู้บังคับการกองบิน 4 ตาคลี, ผู้บังคับการกองบิน 7 (Gripen) สุราษฎร์ธานี, ผู้ช่วยทูตไทยประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ, เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ, รองเสนาธิการทหารอากาศ,
เสนาธิการทหารอากาศ และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญทางด้านยุทธการเป็นอย่างมาก และเคยมีส่วนร่วมในการประสานโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี ยุคที่ 5 ของกองทัพอากาศ (F-35) ก่อนมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ
…………………………………………………………

กองประชาสัมพันธ์
สำนักกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์
กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ
29 กันยายน 2566
ข้อมูลข่าว:สมาคมสื่อมวลชนเพื่อสังคม