“จดหมายเปิดผนึกถึงพี่ชลน่าน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”

“จดหมายเปิดผนึกถึงพี่ชลน่าน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”
เรื่อง ข้อเสนอในการควบคุมยาสูบ
​หลายวันก่อนเห็นคุณหมอนักรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่คนสำคัญท่านหนึ่ง ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับนโยบายควบคุมยาสูบ จี้รัฐบาลใหม่ 12 ข้อ เพื่อให้รีบดำเนินการโดยเร่งด่วน
ผมอ่านแล้วก็มีข้อกังขาอยู่หลายจุด เพราะที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสทำงานศึกษาปัญหาการควบคุมการบริโภคยาสูบและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมาธิการสาธารสุขชุดที่ผ่านมา และเห็นว่าปัญหาการสูบบุหรี่เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติด้านสาธารณสุขที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
แต่ข้อเสนอ ในจดหมายเปิดผนึกที่มีการนำมาเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ผมและคณะได้พบในการศึกษาของกรรมาธิการเท่าไหร่นัก
ผมจึงขอเสนอการจัดการควบคุมยาสูบ ในมุมมองของผมที่ได้ข้อมูลจากการศึกษาอย่างรอบด้านผ่านกรรมาธิการสาธารณสุข และได้มีการทำรายงานการศึกษาส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้วด้วย ดังนี้
1) การเร่งรัดรัฐบาลให้ลงนามสัตยาบันในพิธีสาร “การขจัดการค้ายาสูบที่ผิดกฎหมาย” เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเพราะบุหรี่เถื่อนส่วนใหญ่ลักลอบเอาเข้ามา ไม่เสียภาษี ไม่ติดแสตมป์ ไม่มีภาพคำเตือน ไม่ต้องทำตามกฎระเบียบใดๆ ทั้งสิ้น
การลงนามจะทำให้บุหรี่เถื่อนหมดไปได้จริงหรือ หรือจะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่แสดงให้เห็นว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้วเท่านั้น
2) ประเด็นภาษีบุหรี่ ผมเห็นด้วยเรื่องการปรับอัตราภาษีบุหรี่ให้เหลืออัตราเดียว แก้ปัญหาข้อเสียเปรียบของบุหรี่ไทย เพื่อให้ชาวไร่ยาสูบให้ได้โควตายาสูบกลับคืนมาบ้าง โดยเฉพาะชาวไร่ยาสูบทางภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดน่านก็มีชาวไร่ยาสูบที่โควตารับซื้อยาสูบเหลือเพียง 25% จากโควตาเต็มที่แต่ละครอบครัวมีเท่านั้น
การจัดการต้องมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ราคาบุหรี่ถูกกฎหมายแพงกว่าบุหลี่ลักลอบนำเข้ามาก จนคนหันไปสูบบุหรี่เถื่อนมากกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย
3) ประเด็นภาษียาเส้น ต้องถามว่าที่ผ่านมาทำไมกลุ่มผู้รณรงค์ควบคุมยาสูบถึงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ??? หรือการผลักดันให้ขึ้นภาษีบุหรี่มวน ทั้ง ๆ ที่คนสูบยาเส้นมีมากกว่าเสียอีก
และ ประเด็นส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน เท่าที่เฝ้าสังเกตมาหลายปี ยังไม่มีพืชชนิดไหนที่ให้รายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างงาน สร้างอาชีพได้เหมือนพืชยาสูบ กำไรดีกว่าการปลูกข้าว ไม่ใช่การตะบี้ตะบันให้ไปปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ที่หากจะประหยัดต้นทุนก็จะต้องมีการเผา ซึ่งเพิ่มปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ให้หนักขึ้นอีก
4) ประเด็นการเพิ่มงบประมาณ เพิ่มคน ในการจัดการยาสูบ
ก็ต้องบอกว่างบประมาณที่ สสส. ได้ไปในแต่ละปี ปีละ 3 – 4 พันล้านบาทนั้นเยอะมากครับ แบ่งมาใช้ในงานรณรงค์ควบคุมยาสูบปีละหลายร้อยล้านบาท
แต่ทุกวันนี้งบประมาณ สสส. ถูกนำไปใช้ในงานที่ไม่ตรงเป้า ใช้งบทำประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนัก งานอีเว้นท์ การว่าจ้างสื่อ และแบ่งสรรให้เอ็นจีโอจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเครือข่ายได้เงินไปปีละเท่าไหร่บ้างไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียด แม้แต่ในคณะกรรมาธิการได้มีการขอข้อมูลการจ่ายเงินให้เครือข่ายควบคุมยาสูบว่า สสส. จ่ายเงินให้บุคคล องค์กร มูลนิธิไหนบ้างก็ไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูล
5) ประเด็นการแบนส่วนประกอบในบุหรี่ ได้เคยมีการพิจารณประเด็นนี้ในหลายคณะกรรมาธิการ และ โดยเฉพาะในกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ
ที่ได้ข้อสรุปจากการประชุมว่า การแบนส่วนประกอบ เช่น เมนทอลในบุหรี่นั้น จะยิ่งซ้ำเติมยอดขายของบุหรี่จากโรงงานยาสูบไทย และกระทบไปถึงโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกร แต่ไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ เนื่องจากผู้ที่ต้องการสูบบุหรี่ที่มีการใส่ส่วนประกอบ หลัก ๆ คือเมนทอล จะไปซื้อบุหรี่แบบนี้จากตลาดบุหรี่ลักลอบนำเข้าอยู่ดี
6) ประเด็นการลดจำนวนบุหรี่ปลอดภาษี จาก 10 ซองต่อคน (1 คาร์ตอน) ให้เหลือ 1 ซอง อันนี้ผมมองว่า ไม่ได้มีผลมากนักในการปกป้องสุขภาพ เพราะเข้ามาในประเทศไทยก็ซื้อบุหรี่ได้อยู่ดี ที่เสนอมาโดยอ้างหลายประเทศเค้าทำกัน แต่พอพูดถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่ประเทศส่วนใหญ่เค้าทำให้ถูกกฎหมาย กลับไม่ยอมรับให้มีการทำให้ถูกกฎหมาย
​ประเด็นการบรรจุยาช่วยเลิกบุหรี่ในชุดสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน มีคำถามที่คาใจที่คนในแวดวงสาธารณสุขเสมอว่า การพยายามจะบรรจุยาเลิกบุหรี่ลงในสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนบางคนบางกลุ่มและเอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาข้ามชาติหรือไม่ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และเรามีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่
7) ประเด็นการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ทุกวันนี้ ไทยเป็นเพียงประเทศส่วนน้อยที่ยังแบนบุหรี่ไฟฟ้า แตกต่างจากกว่า 80 ประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ถูกแบน การเอาเด็กและเยาวชนมาอ้างไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะทุกวันนี้เราเห็นการขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบไม่มีการควบคุมเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง
แต่ผู้ที่กำหนดนโยบายการ “แบนทิพย์” ต่างหากที่ต้องรับผิดชอบกับการที่เด็กและเยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย เพราะหาซื้อได้ง่ายตามช่องทางออนไลน์และร้านที่ไม่มีการควบคุมอย่างทุกวันนี้
และเมื่อพิจารณาข้อมูลวิชาการจากหลายประเทศก็พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็น gateway ของการสูบบุหรี่มวน
เมื่อเทียบความเสี่ยงจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนกับผลต่อสาธารณสุขในภาพรวม การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกควบคุมด้วยกฎหมายจะมีผลดีต่อสาธารณสุขมากกว่าความเสี่ยง
8) ประเด็นมาตรการควบคุมยาสูบที่ผ่านมาไม่มีการมองในภาพรวม และไม่ได้มีการรับฟังปัญหาอย่างรอบด้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน แม้กระทั่งการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นการควบคุมยาสูบยังมีข้อครหา และ ข้อสังเกตที่พบในการศึกษาของกรรมาธิการว่าอาจมีอคติและเลือกใช้ข้อมูล และเลือกให้ทุนวิจัยแบบไม่โปร่งใส
ปัญหาของการแทรกแซงนโยบายยาสูบทุกวันนี้ เราต้องแยกเอาเอ็นจีโอสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ราชการผู้กำหนดนโยบายและรักษากฎหมายออกจากกัน เพราะเอ็นจีโอบางกลุ่มเข้ามาแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบเสียเอง
9) การกำหนดมาตรการใด ๆ เรื่องยาสูบ หรือการจะเดินทางไปประชุมสมัชชากรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบในทุกครั้ง ขอให้ช่วยกันผลักดันให้มีตัวแทนจากกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปร่วมประชุมด้วย อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ไม่ใช่มีแต่กระทรวงสาธารณสุขและเอ็นจีโอพากันไปแบบพวกเดียวกันเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการประชุมระหว่างประเทศได้กำหนดไว้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมต้องเป็นผู้แทนของรัฐบาลไม่ได้เป็นเอ็นจีโอ แต่เนื่องด้วยมีบางคนมีตำแหน่งในการควบคุมยาสูบของรัฐและในขณะเดียวกันยังเป็นเอ็นจีโอ ซึ่งมีข้อมูลว่าได้เคยมีผู้ทักท้องในเรื่องดังกล่าวแล้วด้วย
สรุปว่า การควบคุมยาสูบของไทยที่ผ่านมาจากข้อมูลตัวชี้วัดอัตราผู้สูบบุหรี่ไม่สามารถทำให้ลดลงได้ตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ได้เลยในเวลากว่าทศวรรษ มีการนำเสนอข้อมูลล่าสุดที่อัตราผู้สูบบุหรี่ลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขที่ลดลงเนื่องมาจากการเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า
มีการดำเนินการโดยกลุ่มคนและเครือข่าย ซึ่งไม่เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน และปิดกันการแสดงความเห็นต่างในหลายวิธี มีแม้กระทั่งการใช้กระบวนการร้องเรียนผ่านสภาวิชาชีพเพื่อปิดปากผุ้ที่นำเสนอข้อมูลวิชาการอีกด้าน
มีความสงสัยในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งหากพี่ชลน่านต้องการข้อมูลเรื่องนี้ ได้มีการสรุปไว้ในรายงานของกรรมาธิการการสาธารณสุขแล้วด้วย และสามารถสั่งการให้มีการสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมได้
ในฐานะของประชาชนที่เป็นบุคลกรทางการแพทย์คนหนึ่ง ต้องการให้ปัญหาหลักหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน คือ การสูบบุหรี่ ได้รับการแก้ไขด้วยข้อมูลวิชาการใหม่ๆ แนวทาง วิธีคิดใหม่ ๆ ด้วยการทำงานที่โปร่งใส สุจริต ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และรับฟังข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

จดหมายเปิดผนึกจาก Facebook: หมอเอก Ekkapob Pianpises
ที่มา:https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0u1HCU9Ru8MK4eU8gVfFP16a197kdCdjUAiFcxUZh8txcDv9TzgFdNgxkkLGusaGrl&id=100063537768976&mibextid=Nif5oz