เชียงใหม่-จังหวัดเชียงใหม่ ลงนาม MOU พร้อมนำร่อง จัดรูปแบบการศึกษา พัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

เชียงใหม่-จังหวัดเชียงใหม่ ลงนาม MOU พร้อมนำร่อง จัดรูปแบบการศึกษา พัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในพิธี พร้อมด้วย นางทิพรวี รัตนรังสรรค์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่, พลเอกศรุต นาควัชระ ผู้อำนวยการศูนย์ยวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์, นายสรศักดิ์ วจีสัตย์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ผู้แทน นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, นายไทม์ โรจนจินดา รองนายกเทศมนตรี นครเชียงใหม่ และนางสาวโยโกะ เตรูย่า รองประธานมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการเสริมสร้างคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ณ มูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

เนื่องด้วยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ตระหนักถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงจัดโครงการเสริมสร้างคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active learning โดยสร้างพื้นที่การเรียนรู้ Makerspace พื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ สร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยกับวิธีการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นนักคิด นักแก้ปัญหา มีเหตุมีผล นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ด้วยกระบวนการ STEAM Design Process เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ตามความสนใจและความถนัดเฉพาะด้าน ของตนเอง ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู โรงเรียน ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดการเรียนรู้ร่วมกันด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมเชิงเดี่ยว และคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบลงมือทำ (Active Learning)
เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู โรงเรียน ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเทคโนโลยี ทางการศึกษา มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ด้วย Makerspace เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู โรงเรียน ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเทคโนโลยีทางการศึกษา มาใช้ในการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 มีพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวกในด้านความรับผิดชอบ จิตอาสา และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วย Starfish Class

เป้าหมายสำคัญคือ เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่สายงานการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 80 คน สามารถวางแผนการสอนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ มุ่งพัฒนาพฤติกรรมเชิงคุณธรรม และพัฒนาวิธีการสอน Makerspace ได้ สามารถสร้างนักเรียนแกนนำ ที่มีทักษะ สมรรถนะในศตวรรษที่ 21 มีพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวก มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ และนำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนแกนนำรุ่นน้องได้


ในการนี้นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาบรรลุผล  จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดประเด็นการพัฒนาการศึกษาให้เชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาระดับภูมิภาค : EDUCATION HUB มุ่งเสริมสร้างสังคมคุณภาพ  สร้างความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาไปสู่เป้าหมายให้คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้เด็กๆ เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญชาติที่ เก่ง ดี มีจิตสาธารณะ และทักษะชีวิต


ขอขอบคุณหน่วยงาน องค์กรที่เข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเสริมสร้างคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ ACTIVE LEARNING  ได้แก่ มูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น  มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์  องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ที่ร่วมกันคิด และทำสิ่งดีๆ เพื่อเชียงใหม่ ขอให้การดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์  นำไปสู่การทำให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็น “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” สืบต่อไป

นอกจากลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แล้ว ยังได้มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ Starfish Makerspace Learning Center (ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) เป็นศูนย์การเรียนรู้ สร้างครูต้นแบบและโรงเรียนให้มีนวัตกรรมในการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะสู่โลกอนาคต โดยการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านพื้นที่การเรียนรู้ Makerspace ส่งเสริมให้ผู้เรียน เป็นนักคิด นักแก้ปัญหา มีเหตุมีผล นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 และพัฒนาวิชาชีพครู ให้มีการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของ Active Learning เปลี่ยนบทบาทจากครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน และมีชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาวิชาชีพครูที่เข้มแข็งโรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้ Makerspace เพื่อพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนและสามารถจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ Starfish Makerspace Learning Center เพื่อขยายผลพัฒนาผู้เรียนและสร้างการศึกษาที่มีความหมาย


อีกทั้งยังได้มีการเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนบ้านปลาดาว และนวัตกรรม Makerspace โดยเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบ Project Based Learning (PBL) ของนักเรียนชั้นปฐมวัย ที่คุณครูได้เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เด็กๆสนใจ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ให้เด็กสำรวจผ่านสื่อเทคโนโลยี และ ประสบการณ์รอบตัว จนนำไปสู่การเลือกหัวข้อการเรียนรู้ที่เด็กๆ สนใจ ด้วยตัวเด็กเอง และ ลงมือทำโดยบูรณาการความรู้ในหลายหลายวิชาผ่านกิจกรรม Makerspace ด้วยกระบวนการ STEAM Design Process และในระดับประถมศึกษา ได้เยี่ยมชมห้องเรียนนวัตกรรม Makerspace พื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงเรียนที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เน้นให้เด็กสามารถเลือกเรียนรู้ตามความสนใจ มีการตั้งคำถาม ลงมือทำ สะท้อนคิด และสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้ในห้องเรียน

วิภาดา/เชียงใหม่