นราธิวาส-ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระเทพศีลวิสุทธิ์ เป็นพระธรรมวัชรจริยาจารย์

นราธิวาส-ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระเทพศีลวิสุทธิ์ เป็นพระธรรมวัชรจริยาจารย์

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระเทพศีลวิสุทธ์ เป็น พระธรรมวัชรจริยาจารย์ ไพศาลทักษิณศาสนประสิทธิ์ สุวินิตนรากรปัจจันตเขต พิเนตชลธาราวรกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นธรรม สถิต ณ. วัดประชุมชลธารา บ้านควน หมู่ที่ 6 ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 6 รูป คือ พระครูปลัดวินัยวัฒน์ 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูธรรมธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566

พระธรรมวัชรจริยาจารย์ : หรือราชทินนามเดิม พระเทพศีลวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18 เจ้าอาวาสวัดประชุมชลธารา อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส (อ่อน ทนฺตจิตฺโต)เป็นพระนักปฏิบัติ ที่เป็นต้นแบบของการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิม และมีเมตตาธรรมในการให้ความช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยกศาสนา อีกทั้งยังทำให้วัดประชุมชลธารา เป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรม และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ลดปัญหาการสร้างข่าวบิดเบือนเพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั้ง 2 ศาสนา จนส่งผลให้ชุมชนในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดีมีความเข้มแข็ง เห็นผลในเชิงประจักษ์ จนสามารถสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น และได้รับการเลื่อมใสศรัทธาจากคนในพื้นที่รวมทั้งชาวมาเลเซียและสิงคโปร์

เป็นพระภิกษุที่มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยมุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาพระภิกษุสามเณร ให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะและวัตรปฏิบัติเหมาะสมกับสมณเพศ อีกทั้งได้ให้ความสนใจและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของประชาชน จนรับรู้ถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างดี ท่านได้จัดทำโครงการกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน อาทิ โครงการฟื้นฟูนาร้าง ได้ออกเยี่ยมเยียนประชาชนกลุ่มทำนา รับทราบปัญหาอุปสรรค และความต้องการของประชาชน จากนั้นได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ รวมทั้งหน่วยทหารพัฒนาและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวก สนับสนุนความต้องการของประชาชน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างทันท่วงที จึงทำให้กลุ่มทำนาโครงการฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่ตำบลสุไหงปาดี ได้มีการดำเนินการจำนวน 430 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หมู่ 2 ตำบลสุไหงปาดีจำนวน 200 ไร่ พื้นที่หมู่ 11 ตำบลสุไหงปาดี จำนวน 230 ไร่ ผลการดำเนินงานประชาชนได้รับผลผลิตจากนาข้าวในระดับที่น่าพอใจ

ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยใช้พื้นที่วัดทำการเกษตรยกระดับรายได้ประชาชน โดยหากพื้นที่ของวัดหรือสำนักสงฆ์ใดที่มีพื้นที่กว้างได้มอบหมายให้วัด หรือสำนักสงฆ์ที่มีพื้นที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร จัดให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าทำการเกษตรครัวเรือน เช่น ปลูกผักสวนครัว พืชไร่ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพในวัด โดยเน้นการสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเสริมรายได้ให้ครอบครัว เช่น กลุ่มจัดทำเครื่องสังฆทาน กลุ่มงานประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ กลุ่มจัดดอกไม้ กลุ่มจักสาน เป็นต้น

อีกทั้งยังมีเมตตาสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสผู้ยากไร้ ผู้ป่วยทุพพลภาพ โดยการไปเยี่ยมปลอบขวัญ มอบเงินช่วยเหลือการรักษาพยาบาล จัดทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนและยากจน ประสานหน่วยงาน เช่น ศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์กายภาพบำบัด สำหรับผู้พิการการให้ความสงเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น ครอบคลุมประชาชนทุกศาสนาโดยไม่เลือกปฏิบัติ

พระธรรมวัชรจริยาจารย์จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจในการดำรงไว้ซึ่งกิจการงานประเพณีวัฒนธรรมที่ประชาชนทั่วไปให้ความเคารพ เลื่อมใสศรัทธาท่าน ในฐานะที่ปรึกษาและผู้นำปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญ ในระเบียบวิธีการและการดำเนินงานที่มีความเรียบร้อยสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับการสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ทั้งในระดับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะการส่งเสริมให้วัดประชุมชลธารา เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมงานประเพณีวัฒนธรรมทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น จนเป็นที่กล่าวขานโดยทั่วไป

อนึ่งในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พระธรรมวัชรจริยาจารย์
มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ และความไว้วางใจ ของบุคคลทั้งสองศาสนาได้เป็นอย่างดีโดยอาศัยกระบวนการต่างๆ อาทิ
พบปะเยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้นำศาสนาอิสลามที่รู้จักกันมายาวนาน เพื่อนำไปสู่การร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาในพื้นที่

นำชาวไทยพุทธในพื้นที่ ร่วมกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมวันสำคัญของพี่น้องมุสลิมอย่างต่อเนื่อง เช่น งานเมาลิด งานมงคลสมรส งานเข้าสุนัต ร่วมสนับสนุนปัจจัยเป็นเงินและวัสดุก่อสร้างในการก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคารสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิม เช่น สร้างซ่อมแซมมัสยิดอาคาร ศาลาละหมาด สงเคราะห์มุสลิมผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษาบุตร มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือตามความจำเป็น เยี่ยมปลอบขวัญให้กำลังใจในช่วงที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ บ้านเรือนถูกอัคคีภัย อุทกภัย และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการที่พระธรรมวัชรจริยาจารย์ ดำเนินการในลักษณะปรองดองสมานฉันท์อย่างต่อเนื่องทำให้สถานการณ์และความเป็นอยู่ในพื้นที่มีความเข้าใจความไว้วางใจและมีการติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างกันให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในประเทศหรือพิสูจน์อย่างกว้างขวางจนเกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เป็นแบบอย่างแก่สังคมทั่วไป เห็นได้จากการที่ชาวไทยพุทธและมุสลิมมาร่วมกิจกรรมออกร้านนำการแสดงมาร่วมงานฉลองอายุวัฒนมงคลพระธรรมวัชรจริยาจารย์
ทุกวันที่ 7 มกราคมของทุกปี

ภาพ/ข่าว มาหามะ ดือเลาะ นราธิวาส ทีมข่าว ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา