เชียงใหม่-เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ฟาร์มอัจฉริยะ”Sun Space Farm “

เชียงใหม่-เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ฟาร์มอัจฉริยะ”Sun Space Farm “

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 9:00 – 12:00 น. ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเชียงใหม่ เปิดศูนย์เรียนรู้ฟาร์มอัจฉริยะ “Sun Space Farm “ภายใต้โครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน 1” โดยมีรศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ พร้อมทั้งผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนำชม Showcase product development จากผลผลิตทางการเกษตรของฟาร์มที่ เข้าร่วมโครงการ ณ ศูนย์เรียนรู้ฟาร์มอัจฉริยะ ซันสเปซ ฟาร์ม

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการ  “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน  โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ในภาคเหนือตอนบน 1” ดำเนินการลงพื้นที่โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – สำนักงานเชียงใหม่

Sun Space Farm เป็นโรงเรือน 1 ใน 5 โรงเรือนที่ติดตั้งอุปกรณ์ SMART FARM จากโครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน 1” เพื่อพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ภายในพื้นที่ และเพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงด้านจัดการปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรือนอัจฉริยะ และเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการการปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรือนอัจฉริยะด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เป็นโรงเรือนต้นแบบ เพื่อใช้และ พร้อมสอนต่อไปยังกลุ่มเกษตรกร รวมถึงกลุ่มผู้ที่สนใจ เพื่อนำผลิตผลทางการเกษตรในฟาร์มให้เป็นพืชปลอดภัยได้ตามมาตรฐาน GAP และได้รับความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน Halal ด้านหลักศาสนบัญญัติอิสลาม

ซึ่งการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการปลูกพืชสมุนไพรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ เป็นการนำเอาระบบเฝ้าระวัง (monitoring) และระบบควบคุม (control) ปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น การใช้น้ำ, อุณหภูมิ และความชื้น เป็นต้น ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ loT (Internet of Things) โดยการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ (Sensor) และ อุปกรณ์ควบคุม (Controller) ภายในโรงเรือน และส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์

โดยเกษตรกรหรือผู้ใช้งานสามารถสั่งการ และเรียกดูการรายงานผลในรูปแบบข้อมูลและกราฟผ่านทางหน้าเว็บไซต์ (Website) ทําให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ในกระบวนการเพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตให้สามารถส่งออกตลาดได้อย่างเพียงพอ ด้วยในปัจจุบันชุมชนมีตลาดรองรับเป็นจํานวนมาก นอกจากนี้ยังลดการใช้เวลาและการพึ่งพาแรงงานอีกด้วย

ผลผลิตทางการเกษตรของฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ ที่นำเสนอในวันนี้
1.Flower snack (ผลิตภัณฑ์ดอกไม้อบกรอบปรุงรส)
ผลิตภัณฑ์ดอกไม้อบกรอบปรุงรส มาจากแนวคิดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตดอกอัญชัน แปรรูปโดยการอบแห้งและปรุงรสให้เป็นอาหารทานเล่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อัญชันอบกรอบปรุงรส มี 3 รสชาติให้เลือก ต้มยำ บาร์บีคิว และรสธรรมชาติ และในดอกอัญชันมีสารสำคัญ  แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidant)

2.Hydrosol Drinking Water (น้ำกลั่นจากพืชใช้สำหรับบริโภค)
น้ำกลั่นจากพืชทั้ง 7 ชนิด ที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการบริโภค ไม่ว่าจะทั้งเครื่องดื่ม หรือ อาหาร

3.Plant Cosmetics Color (การสกัดสีจากพืชเพื่อการทำสกินแคร์และเครื่องสำอาง)
การสกัดสีจากพืช 5 อย่าง ได้แก่ ฝาง ใบมะม่วง อัญชัน หมากแดง ฮ่อม เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากการเกษตรและเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สกินแคร์และเครื่องสำอาง

4.Plant Probiotic (การทำโปรไบโอติกส์จากพืช)
การหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติกับผลไม้และพืชพื้นถิ่น (ข้าว ลิ้นจี่ สัปปะรด) ให้ได้โปรไบโอติกส์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากการเกษตรในท้องถิ่นและส่งเสริมเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สกินแคร์และเครื่องสำอาง

5.Plant encapsulation (การเอ็นแคปซูเลชั่นสารสกัดจากพืช)
การทำสารสกัดจากขิงและโรสแมรี่ และผ่านการ encapsulation เพื่อเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลหนังศรีษะเเละเส้นผมได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

6..Nail Serum (เนเซรั่ม)
ผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บ โดยมีข้าวหอมมะลิ น้ำมันงาขี้ม้อน น้ำมันเมล็ดชา เป็นส่วนประกอบ ช่วยดูแลสุขภาพเล็บและผิวให้ดีขึ้น

7.Quranic Energy Bar(ขนมอบกรอบให้พลังงาน ผลไม้ผสมธัญพืช(มีการกล่าวถึงในอัลกุรอาน))
เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อกลุ่มคนที่รักสุขภาพ เพื่อชดเชยความต้องการของโปรตีนและสารอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยผลไม้ที่มีการกล่าวถึงในอัลกุรอาน คือ อินทผลัม ผลมะเดื่อ องุ่น เทียนดำ(ฮับบะตุเซาดะห์)กล้วย รวมถึงน้ำผึ้ง ซีเรียล และพืชตระกูลถั่ว ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดมีศักยภาพสูงมากในการทำหน้าที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหารว่างฮาลาลได้


8.BUTTERNUT SQUASH FLOUR (เส้นพาสต้าจากแป้งบัตเตอร์นัทสควอช)
BUTTERNUT SQUASH FLOUR คือการนำแป้งสควอช เพิ่มมูลค่าโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเส้น
พาสต้าสควอช ซึ่งแหล่งโภชนาการที่ดีและมีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ และเป็นแป้งที่อุดมด้วยแร่ธาตุช่วยเพิ่มสุขภาพดวงตา ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง และรักษาระดับความดันโลหิต

9.Seven Day tea (ชา 7 สี)
ผลิตภัณฑ์ชา 7 รส 7 สี ประกอบด้วย 1. Ginger Tea 2. Lemongrass Tea 3. English Breakfast 4. Jasmine Tea     5. Peppermint Tea 6. Oolong Tea 7. Darjeeling Tea

10.Plant food color  (การสกัดสีจากพืชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา)
การสกัดสีจากพืช 4 ชนิดได้แก่ ดอกอัญชัน(สีน้ำเงิน) ฟักทอง(สีเหลือง) บีทรูท (สีแดง)และใบเตย(สีเขียว)โดยใช้เทคนิค  เอนแคปซุเลชั่น ด้วยเครื่อง Spray dryer เพื่อให้ได้สารสีไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา ซึ่งสารสีมีคุณค่าทางอาหารที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชท้องถิ่น

นภาพร/เชียงใหม่