เชียงใหม่-แอ่ว…เหนือผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า”เส้นทางท่องเที่ยว ยุคก่อนประวัติศาสตร์”

เชียงใหม่-แอ่ว…เหนือผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า”เส้นทางท่องเที่ยว ยุคก่อนประวัติศาสตร์”

การศึกษาดูงาน (Fam Trip) กิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนาประจำปี 2566 “เส้นทางที่ 3 เส้นทางท่องเที่ยว ยุคก่อนประวัติศาสตร์”เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน )ประจำปีงบประมาณ 2566 ระหว่างวันที่7-8 กรกฏาคม 2566โดย สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1

ว่าที่ร้อยเอกสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเมืองหลักของภาคเหนือ มีประเพณี ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมล้านนาที่มี อัตลักษณ์ทรงคุณค่า และเสน่ห์ที่โดดเด่น  ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกันในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มล้านนาที่ประชาชน มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน หากได้มีการนำทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วในแต่ละท้องถิ่นมาสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

อีกทั้งยังเป็นแนวทางหนึ่ง ในการส่งเสริมอัตลักษณ์ล้านนา ให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่แพร่หลายสืบไป นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายควรจะร่วมมือกัน นำเอาแนวทางการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ของรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติโดยการนำทุนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมล้านนาและการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้มีคุณภาพ เกิดความสร้างสรรค์ ทางคุณค่าและความโดดเด่นของวัฒนธรรมล้านนาอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยว ต้องมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆให้กับนักท่องเที่ยว

ถ้ามีโอกาสลองมองจังหวัดแม่ฮ่องสอน เราสามารถทำเชื่อมโยงกันได้ เพราะจริงๆแล้วที่เชียงใหม่มาทำเส้นทางเชื่อมโยงหลายอย่างเพราะว่าด้วยคนเชียงใหม่และทุกคนในประเทศน่าจะเคยมาเชียงใหม่กันแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เชียงใหม่จะมีผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ก็คือมีด้วยตัวเองกับการเชื่อมจังหวัดอื่นรอบข้างที่จะเป็นสินค้าในการท่องเที่ยวใหม่ๆให้เกิดความประทับใจ เป็นอะไรที่เกิดขึ้นแล้วมีความสุขร่วมกัน จะพยายามทำกิจกรรมอะไรให้เกิดขึ้น เพื่อเปิดจุดบอดในหลายๆพื้นที่ในหลายๆจังหวัด

จึงได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนาประจำปี 2566 “เส้นทางที่ 3 เส้นทางท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์”เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระจายรายได้ของกลุ่มจังหวัด และเพื่อเป็นการขยายตลาดการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัด

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยว ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน 2 วัน 1 คืน ระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2566 เริ่มจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ฟังเรื่องเล่าก่อนยุคประวัติศาสตร์ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน จาก ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักเขียน เดินทางต่อไปยังบ้านจ่าโบ่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านในสายหมอกแม่ฮ่องสอน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนด้วยการพักโฮมสเตย์กับครอบครัวชาวลาหู่ จุดชมวิว ทิวทัศน์ ที่สวยงาม ชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า

รวมทั้ง ศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทึ่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ต.ถ้ำลอด อ. ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่ สำคัญและเป็นหนึ่งใน Unseen Thailand
โดยมี ศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนล้านนา ร่องรอยคนโบราณที่เพิงผาถ้ำลอด จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีถ้ำลอด พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่ปะปนกันถึง 4 โครง

ต่อจากนั้นเขาถ้ำน้ำลอด จากการพบเครื่องมือเครื่องใช้โบราณในถ้ำ สันนิษฐานได้ว่าถ้ำนึ้มีอายุประมาณ 2,000 ปี มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่มาก มีน้ำไหลผ่านกลางถ้ำ นักท่องเที่ยวจะต้องนั่งแพเข้าไปชม มีถ้ำที่น่าสนใจหลายจุด อาทิ ถ้ำเสาหินหลวง เป็นถ้ำที่มีขนาดกว้างและมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ถ้ำตุ๊กตาที่เรียกกันตามลักษณะรูปร่างคล้ายตุ๊กตาของหินงอกที่เป็นปุ่มเล็ก ๆ เรียงรายอยู่มากมาย

อีกด้านหนึ่งของผนังถ้ำยังปรากฏภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และถ้ำสุดท้ายที่อยู่ด้านทางออกคือ ถ้ำผีแมน ที่นอกจากมีหินงอกหินย้อยสวยงามแล้ว ยังมีโลงผีแมนมีลักษณะเป็นท่อนไม้ที่ถูกขุดตรงส่วนกลางออกจนเป็นร่องคล้ายเรือ หรือรางไม้ มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ โดยโลงขนาดใหญ่จะถูกวางอยู่บนคานโดยใช้เสา 4-6 ต้น ตั้งกับพื้นถ้ำ และเสาแต่ละคู่เจาะเป็นช่องเพื่อสอดใส่คานไว้วางพาดโลงผีแมน การเข้าชมถ้ำนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าชมเองได้ เนื่องจากภายในถ้ำมืดมาก ต้องใช้บริการไกด์ท้องถิ่น นำนักท่องเที่ยวชมภายในถ้ำทั้งหมด

นอกจากนี้ยังได้มี จากการศึกษาค้นคว้าของนักโบราณคดี การค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนล้านนาเพิ่มขึ้นมาอีกหลายแหล่ง ซึ่งแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบใหม่เหล่านี้ สามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีผู้สนใจได้เป็นอย่างดี

วิภาดา/เชียงใหม่