“อนุทิน” เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 20 ชูแนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย”
“อนุทิน” เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 20 ชูแนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย”
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย” นำเสนอการใช้ภูมิปัญญาไทยดูแลสุขภาพ พร้อมกิจกรรมสาธิต นิทรรศการ จับคู่ธุรกิจ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมาตรฐานกว่า 500 ร้านค้า ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม นี้ ที่ ฮอลล์ 11-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดผู้เข้าร่วมงานกว่า 200,000 คน เงินสะพัดกว่า 400 ล้านบาท
วันนี้ (28 มิถุนายน 2566) ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะผู้บริหาร เปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย”
พร้อมมอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2566 แก่ พ่อหมอบุญมา มุงเพีย “หมอ 10 บาท รักษาทุกโรค” จากจังหวัดสกลนคร, นายประวิทย์ แก้วทอง เจ้าของแนวคิด “หมอไม่หวงวิชา สอนให้ใครก็ได้ลูกหลานใครก็ได้ที่สนใจ ถ้าไม่ให้วิชาก็จะตายไปกับตัว ถ้าให้เด็กก็จะได้สานต่อช่วยคนอีกเป็นหมื่นเป็นแสน” จากจังหวัดสงขลา มอบรางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 5 รางวัล และรางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นชมรมผู้สูงอายุด้านการแพทย์แผนไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 3 รางวัล
นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการนำสุขภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Health for Wealth) มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยเฉพาะสมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ โดยการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เกษตรกร นำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และต่อยอดใช้ในระบบสุขภาพ ซึ่งการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งนี้
มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงและใช้บริการการแพทย์แผนไทยฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชนเชื่อมั่น ใช้ยาสมุนไพรดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1.48% เป็น 15% มีบริการที่เป็นเลิศ โดยเลือกใช้บริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจาก 4.58% เป็น 20% รวมถึงบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท และเป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย ภายในปี 2570
ด้านนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายกว่า 230 องค์กร ร่วมกันจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 และได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก โดยในปีนี้มีทั้งกิจกรรมสาธิตและนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Thai Herbs & Medical Cannabis for Health and Wealth” นำเสนอ Innovation and Product, Wellness and Thainess Tourism รวมถึงภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพ การให้บริการและคำปรึกษาด้านสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อาทิ “สุขสำราญนิทราคลินิก” รักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับมิติใหม่ การรักษาแบบองค์รวมครบวงจร การบำบัดฟื้นฟูและลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction Model) และการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมอาทิ เกาหลี มาเลเซีย ศรีลังกา รัสเซีย ลาว และมีบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมาตรฐานกว่า 500 ร้านค้า
             
นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร ร่วมกับต่างประเทศ (International Medical Cannabis Conference 2023) และการประชุมกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (BIMSTEC) การประชุมวิชาการประจำปีภายในประเทศ การประกวดผลงานวิชาการประจำปี อบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมอาชีพและการดูแลสุขภาพด้วยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนกว่า 200,000 คน และมีเงินสะพัดภายในงานกว่า 400 ล้านบาท
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน