สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี สู่เยาวชนอีสาน

สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี สู่เยาวชนอีสาน


สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จังหวัดขอนแก่น จัดค่ายกิจกรรม Young สุข Young ไม่เสี่ยง เพื่อสุขภาวะเยาวชนอีสาน ในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง โดยมีเยาวชนจาก 24 โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนมีความเข้าใจต่อเหตุปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโทษกับร่างกาย เช่น ปัญหาการติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ติดเหล้า ปัญหาการพนัน ปัญหายาเสพติด ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน รวมถึงนำความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายครั้งนี้ไปเผยแพร่ในสังคมในการขยายการป้องกันเหตุปัจจัยเสี่ยงต่างๆ


รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 (สสส.) เปิดเผยว่า จากการจัดค่ายก่อนหน้านี้ ทำให้เรารู้ว่าเยาวชนสามารถนำความรู้จากการเข้าค่ายไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการจัดค่ายนี้ ได้พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ ให้กับเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่ 4 จังหวัด (ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ พัฒนาเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสานพลังพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการและการดำเนินงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเยาวชน รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะอย่างเท่าทันสถานการณ์


“การขับเคลื่อนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การพนัน ในเยาวชนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้บริหาร คณะครู บุคลากรเจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง โดยให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมออกแบบและดำเนินงานสานพลังเยาวชนอีสานให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง พัฒนาหลักสูตร พัฒนาเครือข่ายและพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ร่วมกันวิเคราะห์สื่อที่เยาวชนเข้าถึง หาทางให้เยาวชนรู้ทันสื่อ และเปลี่ยนเป็นผู้สร้างสื่อที่มีพลังเหมาะสมกับเยาวชน รวมทั้งทบทวนบทเรียนความสำเร็จที่เป็นหลักสูตรการพัฒนาเยาวชน ก่อเกิดเยาวชนแกนนำและเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง

พร้อมทั้งใช้จุดแข็งของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานเป็นทุนทางสังคมในการขับเคลื่อน เพื่อร่วมสานพลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กระจายไปสู่เยาวชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงด้วย” รศ.แล กล่าว
ผู้รับผิดชอบโครงการ Young สุข Young ไม่เสี่ยง นายประพจน์ ภู่ทองคำ ระบุว่า ในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลัก คือปัญหาทางครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาหย่าร้าง ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากอิทธิพลของเพื่อน ที่ทำให้เด็กอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าหรือความเสี่ยงต่างๆ


“จากการพูดคุยกับคุณครูถึงเป้าหมายสำคัญในการดำเนินโครงการ เห็นพร้องกันว่า เด็กและเยาวชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุยกันก็อาจจะมีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง จากการดำเนินการของโรงเรียน และจากการที่ สสส. จะไปติดตามสนับสนุนและให้กำลังใจกับโรงเรียนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็จะนำไปสู่การประสานนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อที่จะส่งผลไปยังตัวนักเรียน ให้ได้ประโยชน์จากการทำกิจกรรม young สุข young ไม่เสี่ยง” นายประพจน์ กล่าว


Young สุข Young ไม่เสี่ยง เพื่อสุขภาวะเยาวชนอีสาน เป็นหนึ่งในโครงการเสริมสร้างสุขภาวะทางใจ ที่ช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำต่อสู่กับปัจจัยเสี่ยง โดย สสส. เชื่อว่าเยาวชนเป็นพลังสำคัญของประเทศ หากเยาวชนได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพที่ดีต่อไปในอนาคต

000000000000000000000000000000000000
ภาพ/ข่าว สมัย คำแก้ว 0832839589 ยโสธรรายงาน