เชียงใหม่-เปิดเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยผ้าซิ่นตีนจกและผ้าไหมยกดอกเนื่องในวาระชาตกาล 150 ปี เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ

เชียงใหม่-เปิดเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยผ้าซิ่นตีนจกและผ้าไหมยกดอกเนื่องในวาระชาตกาล 150 ปี เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ

เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน)โดย สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนาประจำปี 2566 เส้นทางที่ 2 เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยผ้าซิ่นตีนจกและผ้าไหมยกดอกเนื่องในวาระชาตกาล 150 ปี ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ(เชียงใหม่-ลำพูน) ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ 2566 นำโดยมี ว่าที่ร้อยเอกสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายจักรกฤษณ์ เอ่งฉ้วน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานเชียงใหม่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรม

ว่าที่ร้อยเอกสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมุ่งเน้นให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน โดยส่งเสริมให้มีความหลากหลายทางด้านการท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อเกิดการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ โดยการนำทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่การท่องเที่ยวและการบริการเชิงสร้างสรรค์ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

และในปัจจุบันมีกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีความชื่นชอบเฉพาะ เกิดกระแสความนิยมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นั่นคือ กิจกรรมการท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญของล้านนา นิยมการตามรอยสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติของบุคคลสำคัญระดับชาติ ระดับโลก หรือตามรอยภาพยนตร์ ละครที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ (จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน) และครูบาเจ้าศรีวิชัย (จังหวัดเชียงใหม่-อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน – จังหวัดลำปาง) เส้นทางท่องเที่ยวแหล่งเครื่องปั้นดินเผาในล้านนา (จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง)


ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อระดับชาติอยู่หลายแหล่ง รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์ (จังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ลำพูน-ลำปาง) มีการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนล้านนาเพิ่มขึ้นมาอีกหลายแหล่ง ซึ่งแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบใหม่เหล่านี้ สามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีผู้สนใจได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอนโดย  สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจัดทำกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยว ตามรอยผ้าซิ่นตีนจกและผ้าไหมยกดอกเนื่องในวาระชาตกาล 150 ปี ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ , เส้นทางท่องเที่ยว ตามรอยเส้นทางเมืองปาย ธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย,เส้นทางท่องเที่ยว ตามรอยแหล่งเครื่องปั้นดินเผาในล้านนา ,เส้นทางท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ถ้ำผีแมน (ปางมะผ่า)

สำหรับเส้นทางที่ 2 เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยผ้าซิ่นตีนจกและผ้าไหมยกดอกเนื่องในวาระชาตกาล 150 ปี ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ(เชียงใหม่-ลำพูน) ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน อาทิ ชมแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่แห่งสุดท้ายปลายพระชนม์ชีพของพระองค์ -พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ”สบันงา”เยี่ยมชมการจัดงาน “เส้นทางสายไหม อัตลักษณ์ผ้าไทย ล้านนา” ตามโครงการอัตลักษณ์ผ้าไทยล้านนา ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ที่ สถาบันผ้าทอหริภุญชัย จังหวัดลำพูน กิจกรรมตักบาตรยามเช้าในชุมชน

แต่งกายในชุดพื้นเมืองแม่แจ่ม ผู้หญิงสวมใส่ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ผู้ชายใส่ชุดผ้าฝ้าย กิจกรรมถวายสังฆทาน ณ วัดยางหลวง ชมแหล่งทอผ้าซิ่นตีนจก ชมสาธิตกรรมวิธีการทอผ้าซิ่นตีนจก 8 ขั้นตอน อิดฝ้าย ยิงฝ้าย หลูหลี ปั่นฝ้าย เปี๋ย กวัก ห้วนหูก จก ชมการทำปิ่นปักผมทองเหลือง ผลงานหัตถศิลป์หนึ่งเดียวในล้านนาที่ยังใช้กรรมวิธีดั้งเดิม ชมจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด โบราณสถานแห่งหนึ่งที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมของวิหารและภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ได้แม้จะผ่านกาลเวลามาเกือบสองร้อยปี

ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความยั่งยืน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระจายรายได้ของกลุ่มจังหวัด และเป็นการขยายตลาดการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 1 เพิ่มมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี

 

วิภาดา/เชียงใหม่