กาฬสินธุ์ นกอพยพยึดพื้นที่กินหอยเชอรี่ช่วยลดทุนชาวนาซื้อสารเคมี

ฝูงนกกระยางนา และฝูงนกปากห่างหลายพันตัว ที่อพยพเข้ามาในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อ 10 ปีก่อน ได้เกิดการขยายพันธุ์ และแบ่งพื้นที่ปักหลักหากินเป็นกลุ่มๆ ส่งผลดีต่อชาวนาโดยจิกกินหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูศัตรูข้าวจนสูญพันธุ์ ทำให้ลดการใช้สารเคมี และสร้างสีสันเต็มท้องนา ด้านผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติเผย นกทั้ง 2 ชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนคุ้มครอง หากจับมาเป็นอาหารมีโทษตามกฎหมาย


วันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพทำนา ของชาวนาใน จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ทั้งในเขตใช้น้ำชลประทานและนอกเขตชลประทาน พบว่ากำลังลงมือทำนากันเต็มพื้นที่ โดยส่วนใหญ่จ้างรถไถนาและทำนาหว่าน เพื่อเป็นการลดขั้นตอนทำนา ซึ่งสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย กว่าการทำนาดำ


นายวินัย ญาณสาร อายุ 60 ปี ชาวนาบ้านโนนแพง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การทำนาในสมัยนี้สะดวกสบายขึ้นมาก แต่ต้นทุนสูงก็สูงมากด้วย เพราะมีการจ้างทุกขั้นตอน โดยเฉพาะค่ารถไถ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมี กำจัดศัตรูข้าว เช่น หอยเชอรี่ แมลงศัตรูข้าวอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีค่ารถเกี่ยว ค่าขนส่ง ขณะที่ราคาขายผลผลิตข้าวเปลือกตกต่ำ รายได้จึงไม่ค่อยจะคุ้มทุน อย่างไรก็ตาม ในส่วนค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีนั้น ปีนี้ไม่ได้ซื้อมาใช้ เพราะมีนกปากห่างและนกกระยางนามาช่วยกำจัด โดยจิกกินหอยเชอรี่และแมลงศัตรูข้าวให้ จนเรียกได้ว่าทุกวันนี้หอยเชอรี่แทบจะสูญพันธุ์ไปหมด นอกจากนี้ นกทั้ง 2 ชนิด ที่โบยบินบนท้องฟ้าและจับกลุ่มหากินเต็มท้องนา ยังเกิดเป็นภาพที่สวยงาม สร้างสีสัน สามารถผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำนาได้เป็นอย่างดี


ด้านนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฝูงนกธรรมชาติดังกล่าวสันนิษฐานว่าบินอพยพมาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง อาหารขาดแคลน โดยจับกลุ่มบินเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พอพบกับสภาพอากาศที่ชุ่มชื้น มีแหล่งน้ำ มีอาหารให้หากินตลอดปี โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ จึงปักหลักหากินและเกิดการขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก


นายนิยมกล่าวอีกว่า ฝูงนกกระยางและนกปากห่างดังกล่าว เป็นนกธรรมชาติ เข้ามาในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ประมาณ 10 ปี ครั้งแรกเห็นประปราย ก่อนที่จะเกิดการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น น่าจะหลายพันตัว กระจายอยู่หลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทำนา มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ อาหารหลักของนกเหล่านี้คือหอยเชอรี่ รวมทั้งกบ เขียด ปู ปลาที่อยู่ในนาข้าว ซึ่งหอยเชอรี่ถือเป็นศัตรูข้าว โดยจะกัดกินต้นข้าวเป็นอาหาร ทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นข้าว ชาวนาต้องไปหาซื้อสารเคมีที่ราคาแพงมากำจัดหอยเชอรี่ ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง ส่งผลเสียต่อคุณภาพข้าวและสุขภาพของชาวนา


นายนิยมกล่าวเพิ่มเติมว่าพอมีนกกระยางและนกปากห่างเข้ามาในพื้นที่ จึงช่วยกำจัดหอยเชอรี่ศัตรูข้าวได้เป็นอย่างดี และผลดีของนกเหล่านี้ยังทำให้มองดูเพลินตาเพลินใจ เหมือนเป็นสวนสัตว์นกธรรมชาติ ที่สร้างความสวยงามอยู่ตามท้องทุ่ง ทั้งนี้ ช่วงแรกที่นก 2 ชนิดนี้เข้ามาในพื้นที่ ได้รับการร้องเรียนจากชาวนาบ้างว่าลงเหยียบย่ำต้นข้าวเสียหาย และลงหากินตามบ่อกุ้งบ่อปลา

ซึ่งก็ได้ให้คำแนะนำให้หาวิธีการป้องกัน โดยทำหุ่นไล่กา ซึ่งบรรเทาความเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นนกธรรมชาติที่ช่วยกำจัดหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูข้าว และยังสร้างสีสันมองดูสวยงาม จึงขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันดูแล และอนุรักษ์เป็นสัตว์ประจำถิ่น เพราะฝูงนกเหล่านี้ให้คุณมากกว่าโทษ โดยเฉพาะไม่ควรจับมาทำอาหาร เพราะเป็นสัตว์ป่าสงวนคุ้มครอง หากใครละเมิดมีความผิดตามกฎหมาย