กาฬสินธุ์ ชาวไร่อ้อยสุดช้ำหลงกลแก๊งคอลเซนเตอร์สูญเงินพริบตา 7 หมื่นบาท

โดนจนได้! ชาวไร่อ้อยอำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ หลงกลแก็งคอลเซนเตอร์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.แห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทรเรียกเงินเคลียร์คดีพัวพันยาเสพติดและฟอกเงิน สูญเงินพริบตาเดียว 7 หมื่นบาท พอตั้งสติได้แทบเข่าทรุด เงินขายอ้อยและเงินรับจ้างตัดอ้อยสะสมมาทั้งชีวิตถูกโอนหายเกลี้ยงบัญชี ร้องทุกข์กับเครือข่ายยุติธรรมช่วยพาไปแจ้งความ


วันที่ 17 มิถุนายน 2566 นายกอบโชคชีพ โพธิ์สอน รองประธานสภา อบต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะเครือข่ายยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ได้รับแจ้งจากนางอร (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี ชาวบ้านค้อ ต.หนองช้าง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ว่าเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.66) ถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกให้โอนเงิน 2 ครั้ง จำนวนเกือบ 70,000 บาท โดยครั้งแรกโอนไป จำนวน 4,999 บาท และโอนครั้งที่ 2 อีกจำนวน 20,000 บาท พอตั้งสติได้จึงรู้ว่าตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ จึงนำหลักฐานการโอนเงินมาร้องทุกข์ และให้ช่วยพาไปแจ้งความที่ สภ.สามชัยด้วย เพื่อให้ตำรวจติดตามคนร้าย โดยเชื่อว่าบัญชีที่ตนโอนเงินเข้าเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์แน่นอน เพราะหลังจากโอนเงินเข้าไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์และทางไลน์ได้อีกเลย


นางอร (ขอสงวนนามสกุล) ผู้เสียหายกล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ได้มีโทรศัพท์มาถึงตน ที่แรกต้นสายเป็นเสียงผู้หญิง บอกว่าตนมีประวัติพัวพันกับคดียาเสพติดและคดีฟอกเงิน หมายจับเลขที่ ผบ.984/121 ด้วยความตกใจ จึงท้วงติงและยืนยันว่าตนจะไปเกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวได้อย่างไร ในเมื่อตนอยู่ที่บ้าน ทำนาทำไร่อ้อยและรับจ้างตัดอ้อย ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและฟอกเงินใดๆ ก่อนที่ทางผู้หญิงจะพูดว่าใจเย็นๆ หากไม่ข้องเกี่ยวข้องก็ดีไป ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดหรือมีชื่อและนามสกุลตรงกันกับผู้ต้องหารายนั้นจริงๆ ก่อนที่จะโอนสายให้คุยกับผู้ชาย ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แห่งหนึ่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์


นางอรกล่าวอีกว่า เสียงผู้ชายที่ผู้หญิงคนแรกต่อสายให้นั้น บอกว่าเรื่องนี้มีทางออก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะล้างคดีให้ แต่เบื้องต้นขอเงินค่าดำเนินก่อน โดยแยกเป็นล้างคดียาเสพติด 5 หมื่นบาท และคดีฟอกเงิน 2 หมื่นบาท รวมเป็น 7 หมื่นบาท หลังจากเคลียร์คดีเสร็จแล้วจะโอนเงินคืนให้ หากไม่โอนเงินมาก็จะเกิดความยุ่งยาก จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับมาขึ้นศาล เสียทั้งเงินและเวลา หากเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ โอนเงินมาจะง่ายกว่า และสามารถตรวจสอบปลายทางได้ หลังจากโอนก็เก็บหลักฐาน เช่น ใบเสร็จหรือสลิปการโอนเงินไว้ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบเวลาเรียกเงินคืน


“ตอนนั้นตนรู้สึกสับสนมึนงงมาก ทั้งๆที่ตนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับ 2 คดีที่ถูกกล่าวหา และใจหนึ่งก็คิดว่าทำตามที่ผู้ชายซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตำรวจแนะนำก็คงจะดี จะได้ไม่ยุ่งยาก หากไม่ทำตามแล้วมีตำรวจนำหมายจับมาตามตัวไปขึ้นศาลที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างไกลนับพันกิโลฯ คงลำบากแน่ จึงยอมรับปากโอนเงินให้ โดยมีการแลกไลน์กัน เพื่อความสะดวกในการติดต่อ ซึ่งทางนั้นก็แจ้งเลขที่บัญชีและธนาคารที่จะโอนเข้าไปเรียบร้อย ตนจึงไปเบิกเงินในบัญชีโอนผ่านตู้เงินฝากไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.66 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 4,9999 บาท และครั้งที่ 2 จำนวน 20,000 บาท รวมเป็นจำนวนเกือบ 7 หมื่นบาท

ซึ่งหลังจากโอนไปแล้วก็ไม่สามารถติดต่อปลายทางได้อีกเลย พอมาคิดทบทวนดูจึงรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์แล้ว เงินขายอ้อยและรายได้จากการรับจ้างสะสมมาทั้งชีวิตหายไปในพริบตา ก็เข่าอ่อนทรุด แทบจะเป็นลม ไม่รู้จะทำยังไง จึงมาร้องทุกข์และแจ้งความ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ช่วยติดตามเงินคืนและดำเนินคดีกับแก๊งคอลเซนเตอร์อย่างถึงที่สุด” นางอรกล่าว


ด้านนายกอบโชคชีพ โพธิ์สอน รองประธานสภา อบต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะเครือข่ายยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าจากการสอบถามนางอรผู้เสียหาย ทราบว่าก่อนที่จะหลงกลยอมโอนเงินไปให้ไปแก๊งคอลเซนเตอร์เกือบ 7 หมื่นบาทนั้น มีการแชตพูดคุย ต่อรองกันทางไลน์ตลอด และเร่งเร้าให้นางอรโอนเงินไปให้ โดยหลักฐานที่พบคือโปรไฟล์นั้น เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายตำรวจ สันนิษฐานว่ามิจฉาชีพแอบนำมาใช้เพื่อความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ก็จะได้พาผู้เสียหายไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และขอเตือนพี่น้องประชาชน อย่างเพิ่งหลงเชื่อง่ายๆ เพราะแก๊งคอลเซนเตอร์ยังระบาดอยู่ ถึงแม้จะถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกวาดล้างก็ยังคงมีอยู่ในสังคมปัจจุบัน และถือเป็นภัยร้ายแรงที่ต้องเฝ้าระวังและอย่าหลงเชื่อ เพราะโอนแล้วเกิดความเสียหาย ไม่ได้คืนสักบาท