กาฬสินธุ์ชาวนาโอดปุ๋ยแพงขายข้าวนาปรังขาดทุนหันใช้ปุ๋ยคอกทำนาปี

ชาวนาในจังหวัดกาฬสินธุ์โอดปุ๋ยเคมีแพงขายข้าวนาปรังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากแหล่งรับซื้อให้ราคาเพียง ก.ก.ละ 8 บาท หักค่าปุ๋ยเคมีและรายจ่ายด้านต้นทุนการผลิตขาดทุน ไม่มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส.และแทบจะไม่มีทุนทำนาปี หลายรายหันมาใช้ปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูง พร้อมวิงวอนรัฐบาลชุดใหม่ควบคุมราคาปุ๋ยเคมีและค่าน้ำมันให้ลดลงด้วย


วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ใช้น้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาวในช่วงนี้ ที่เข้าสู่ปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว เนื่องจากชาวนาหลายรายชะลอการเก็บเกี่ยว เพื่อรอแหล่งรับซื้อปรับราคาขึ้น แต่กลับประสบปัญหาน้ำท่วมขัง จากผลกระทบของฝนที่ตกลงมา ทำให้มีน้ำเอ่อขังในแปลงนา รวงข้าวบางส่วนจมน้ำ และบางส่วนเมล็ดข้าวยังไม่แก่จัด


นางปี ศรีทา อายุ 57 ปี ชาวนาบ้านหนองทุ่ม ต.บึงวิชัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การประกอบอาชีพทำนายังมีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมี รวมทั้งราคาจ้างรถไถและรถเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพง ขณะที่ราคาขายเมล็ดข้าวเปลือกยังตกต่ำ ก.ก.ละ 6-8 บาทเท่านั้น หากหักค่าใช้จ่ายแล้ว แทบไม่เหลือเลย บางคนขาดทุนซ้ำซาก


นางปี กล่าวอีกว่า สำหรับการทำนาปีและนาปรังที่ผ่านมา ตนเคยซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงข้าว คือปุ๋ยยูเรียน้ำหนักกระสอบละ 50 ก.ก.ราคา 1,800 บาท ขณะที่ปุ๋ยบำรุงสูตรอื่นๆน้ำหนักเท่ากัน ราคากระสอบละ 1,600-1,700 บาท เมื่อเห็นว่าราคาสูงดังกล่าว จึงได้ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี โดยหันมาใช้ปุ๋ยคอกแทน โดยแบ่งแปลงนาเพื่อทดสอบและเทียบเคียงผลผลิต ปรากฏว่าแปลงที่ใช้ปุ๋ยคอกได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิมไร่ละ 400-500 ก.ก.เป็นไร่ละตันเศษ ขณะที่ใช้ปุ๋ยเคมีไร่ละไม่เกิน 500 ก.ก. และนับวันมีแนวโน้มผลผลิตลดลง เนื่องจากดินเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมี“เมื่อเห็นผลดีของการใช้ปุ๋ยคอกดังกล่าว ในการทำนาปีหรือฤดูกาลผลิตข้าวปีนี้ จึงได้จัดหาปุ๋ยคอก ซึ่งเป็นมูลวัวมาใช้ในแปลงนาแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งในวันนี้ได้นำกระสอบบรรจุมูลวัวมาเตรียมไว้ โดยวางกระจายในแปลงนา รอวันเวลาที่รถไถนาจะมาไถให้ ก็จะระดมแรงงานในหมู่ญาติพี่น้อง มาช่วยกันหว่านปุ๋ยคอกก่อนทำการไถกลบ เป็นการเตรียมดินให้พร้อมเพื่อการเพาะปลูกข้าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีตามท้องตลาดที่ยังมีราคาสูง และราคารับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำอยู่ ในนามตัวแทนชาวนาคนหนึ่งจึงอยากวิงวอนไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ ได้ลงมาควบคุมราคาปุ๋ยเคมีให้ถูกลง รวมทั้งปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ซึ่งหากราคาปุ๋ยเคมีกลับมาอยู่ที่กระสอบละ 600 บาท และราคาขายข้าวเปลือก ราคา ก.ก.ละ 10 บาท ชาวนาก็คงพอที่จะมีกำไร และลืมตาอ้าปากได้แล้ว” นางปีกล่าวในที่สุด