กรมอุทยานฯ เร่งแก้ปัญหาไฟป่า สำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ใกล้เคียงหวั่นเผาป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ และขอความร่วมมือไม่เลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์หากฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมาย

กรมอุทยานฯ เร่งแก้ปัญหาไฟป่า สำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ใกล้เคียงหวั่นเผาป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ และขอความร่วมมือไม่เลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์หากฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้รับการรายงานสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าอนุรักษ์ ตลอดจนเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นจำนวนมาก

ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และกระทบกับสุขภาพอนามัยของประชาชน สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า การเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ รวมถึงการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น จึงต้องมีการสำรวจและตรวจสอบ เพื่อควบคุมและกำกับดูแลสกัดกั้นไม่ให้เกิดการเผาป่าลุกลามและรุนแรงมากขึ้น


โดยได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด กรมอุทยานฯ ดำเนินการป้องการการกระทำดังกล่าวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ในส่วนของการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์นั้น ได้เร่งรัดดำเนินการสำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ พื้นที่เตรียมการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้น รวมถึงพื้นที่ติดต่อกับแนวพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยรอบ เพื่อขอความร่วมมือผู้นำชุมชนและประชาชนไม่ให้มีการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์หรือเผาในพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์จนลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า

รวมถึงขอความร่วมมือห้ามนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยให้เลี้ยงเฉพาะในพื้นที่ควบคุมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากพบว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนให้เป็นอันตรายต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้กรมอุทยานฯ ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่แก้ปัญหาไฟป่า ฝุ่นละอองและหมอกควันต่อไป.