ยะลา-เบตง สนามบินเบตงซ้อมแผนเผชิญเหตุเต็มรูปแบบ

เบตง สนามบินเบตงซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ เครื่องบินลื่นไถลออกนอกวางวิ่ง ไฟไหม้ เกิดเหตุกราดยิง เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 เม.ย.66 ที่ท่าอากาศยานเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ได้เป็นประธานการซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ (Full scale emergency exercise) ท่าอากาศยานเบตง โดยมีนางกรณิศ สุขการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง พ.อ.วรจิตร ศาสตร์ศิลป์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ทั้ง ตำรวจ ตชด. ทหาร อส. ดับเพลิง แพทย์ พยาบาล กู้ภัยในพื้นที่เข้าร่วม


โดยจำลองเหตุการณ์ เกิดเหตุเครื่องบินของสายการบินภูผาแอร์ เที่ยวบิน KK 622 เดินทางมาจากท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้โดยสารรวมลูกเรือ จำนวน 90 คน ซึ่งมีปลายทาง ท่าอากาศยานเบตง ขณะลงจอดได้เกิดเหตุอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง และได้เกิดเพลิงไหม้บริเวณฐานล้อ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยประจำท่าอากาศยานจึงรีบเข้าระงับเหตุเป็นการเร่งด่วน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานต่างๆในพื้นที่อำเภอเบตง ทั้ง ตำรวจ ทหาร ดับเพลิง แพทย์ พยาบาล เข้าสนับสนุนช่วยเหลือ ในการดับเพลิงและเคลื่อนย้ายผู้โดยสารทั้งหมด ซึ่งมีมีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก


นอกจากนั้นยังได้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนขึ้นเมื่อญาติของผู้โดยสาร มาตามหาญาติ เมื่อไม่เจอ ก็ได้เกิดความเครียดขึ้นและได้วิ่งไปที่รถนำอาวุธปืนออกมากราดยิงบริเวณหน้าอาคารที่พักผู้โดยสาร จนเกิดเหตุวุ่นวายหนีตายกันอลหม่าน ก่อนที่จะขึ้นรถยนต์หลบหนีไป เจ้าหน้าที่ รปภ. ประจำสนามบิน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องรีบเข้าระงับเหตุ และติดตามจนสามารถจับกุมคนร้ายกับเพื่อนอีกคน ที่หนีไปหลบจนมุมเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณหน้าหอบังคับการบิน


นางกรณิศ สุขการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานเบตง ได้ จัดการซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ (Full scale emergency exercise) เพื่อบูรณาการความร่วมมือการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานเบตงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงต้องดำเนินการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(icao) ที่กำหนดให้แต่ละท่าอากาศยานของรัฐภาคีต้องจัดให้มีการซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบทุก 2 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์จริง

ซึ่งการซักซ้อมจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีความรู้ความเข้าใจหลักการวิธีการและขั้นตอนการนำแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์ ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานเมื่อเกิดเหตุการณ์อากาศยานประสบอุบัติเหตุภายในท่าอากาศยานและเหตุการณ์กราดยิงภายในบริเวณท่าอากาศยาน และทราบถึงหลักการวิธีการประเมินและปรับปรุงแผนฉุกเฉินหลังการฝึกซ้อมให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์และปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย