นิพนธ์ ขอ กกต. เร่งพิจารณาขอเสนอสมาคมต้มยำไทยในมาเลเซีย หลังประกาศ วันเรื่องวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กระทบ ช่วงวันหยุดยาวประจำปี เกรงคนไทยเสียสิทธิ์ ชี้ กฎหมายเปิดช่อง

นิพนธ์ ขอ กกต. เร่งพิจารณาขอเสนอสมาคมต้มยำไทยในมาเลเซีย หลังประกาศ วันเรื่องวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กระทบ ช่วงวันหยุดยาวประจำปี เกรงคนไทยเสียสิทธิ์ ชี้ กฎหมายเปิดช่อง

วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผย ถึงกรณีที่สมาคมต้มยำไทยในมาเลเซีย โดยนายสำสูเด็ง แวซุกาเลาะ ประธานสมาคมฯ ได้ขอให้พิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในประเทศมาเลเซีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 เมษายน 2566 ตามที่ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ประกาศนั้น ซึ่งทางสมาคมได้รับการร้องเรียนจากแรงงานในร้านอาหารต้มยำและคนไทยที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากวันเวลาดังกล่าวจัดขึ้นหลังการเฉลิมฉลองวันอีดีลฟิตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2566 และคนมุสลิมส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาในประเทศไทยเพื่อเฉลิมฉลองกับครอบครัว เป็นช่วงของการหยุดยาวประจำปี

และจะเดินทางกลับมายังมาเลเซียอีกครั้งหลังจากนั้นประมาณ 7 – 10 วัน ทั้งนี้ การประกาศวันลงคะแนนตามวันดังกล่าว ได้สร้างความไม่สบายใจเป็นอย่างมากและเกรงกันว่าจะทำให้เสียสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะหากเลือกวิธีลงคะแนนนอกราชอาณาจักรก็จะกลับมาลงคะแนนไม่ทัน และถ้าจะกลับไปลงคะแนนที่ประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นไปได้ยากที่จะหยุดงานกลับไปอีกครั้งและจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางและสำหรับคนที่ทำงานตาม

บริษัทเอกชนก็จะลางานได้ยากเช่นกันเพราะเป็นเวลาทำงาน โดยเรียกร้องให้มีการพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1) ขอเลื่อนวันออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งจากเดิมเป็นวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2566 และ 2) ขอให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์และส่งบัตรเลือกตั้งมายังสถานเอกอัครราชทูตไทย
ตามที่ทางสถานเอกอัครราชทูตได้กำหนดเวลาไว้ เฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในประเทศอินโดนีเชียและอีกหลายประเทศ ทั้งนี้จะทำให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐห่างไกลจากส่วนกลาง เช่น รัฐซาบาห์ ชาราวัค ก็มีสิทธิได้ลงคะแนนเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ตามมาตรา 109 ในการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรจะขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะในครั้งนั้น ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ก็ได้
เมื่อได้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 110 และมาตรา 111
ให้นำความในมาตรา 107 วรรคสี่ และมาตรา 108 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน คณะกรรมการจะกำหนดให้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ตามที่เห็นสมควรก็ได้

และ มาตรา 110 ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศใดให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในประเทศนั้น โดยอาจจัดให้มีสถานที่ลงคะแนน หรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือโดยวิธีอื่นใดที่มีใช่เป็นการจัดให้มีสถานที่ออกเสียงลงคะแนนก็ได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ซึ่งทั้งสองมาตรานั้น เปิดช่องทางให้ทำได้ จึงอยากขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวของสมาคมฯ รวมทั้งพิจารณาข้อปัญหาในลักษณะที่คล้ายคลึงของแต่ละพื้นที่ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่และลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของการทำหน้าที่ของคนไทยตามรัฐธรรมนูญกำหนด และสิทธิ์การเลือกตั้งต่างๆ

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

///