“8 ลมใต้ปีก”คานงัดเศรษฐกิจ 10 ล้านล้าน

“8 ลมใต้ปีก”คานงัดเศรษฐกิจ 10 ล้านล้าน

โดย อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. อดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ “..ปีนี้จะเป็นปีแห่งโอกาสในวิกฤติ
ทางด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวของไทย..” “…เราทำเงินจากโอกาสการค้า ของไทยกว่า 10 ล้านล้านบาท ในตลาดอาเซียน-จีน-ตะวันออกกลาง..”

….ปลายปี 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุม APEC ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและมีผลต่อเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก
รวมถึงการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 30 ปี ถือเป็น”ลมส่งท้ายถึงปีนี้จะเป็นปีแห่ง”โอกาสในวิกฤติของไทย”ทางด้าน
การค้าการลงทุนการท่องเที่ยวของไทย เริ่มต้นปีด้วยข่าวดีเมื่อจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายการควบคุมโควิดและเปิดประเทศในเดือนมกราคม


ทั้งนี้ภาคการเกษตรของไทยถือเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย ภายใต้วิสัยทัศน์เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในประเทศ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม องค์ความรู้ ศาสตร์พระราชาภูมิปัญญาไทยโดยจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ทั้ง 77 จังหวัด และศูนย์AICประเภทศูนย์ความเป็นเลิศ(Center of Excellence)อีก 23 ศูนย์ เมื่อ1มิถุนายน2563 ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สำคัญของการยกระดับอัพเกรดการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 และยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตบนความร่วมมือระหว่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ.

สำหรับโอกาสการค้าการลงทุน ของไทยในจีน-ตะวันออกกลาง และอาเซียน ประเทศไทยถือได้ว่ามีศักยภาพสูงโดยใช้จุดแข็งของไทยที่ขอเรียกว่า
“8 ลมใต้ปีก” ช่วยผลักดันโอกาสของไทยและหุ้นส่วนเศรษฐกิจให้เดินหน้าสู่ความสำเร็จ ได้แก่

1. การฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย
สร้างระเบียงเศรษฐกิจใหม่(New Economic Corridor)ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย อาเซียนและตะวันออกกลาง

2. รถไฟลาว-จีน เชื่อมไทย เชื่อมโลก
การพัฒนาโลจิสติกส์เชื่อมการขนส่งการค้า และการลงทุนของไทยไปยังตลาดทุกมณฑลในจีน อาเซียนตะวันออกกลาง เอเซียกลาง ยุโรป และอังกฤษเพราะการขนส่งสินค้าจะเร็วขึ้น ต้นทุนจะลดลง โดยเฉพาะอีสานเกตเวย์ และท่าเรือหวุ่งอ๋างเปิดเส้นทางสู่แปซิฟิก

3. “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP:Regional Comprehensive Economic Partnership)
เป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าไทยเหลือศูนย์ทันทีเกือบ 30,000 รายการ ใน 14 ประเทศที่ร่วมเป็น FTA Partner ของ RCEP
เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 โดยมีสมาชิก 15 ประเทศรวมทั้งจีน และประเทศอาเซียนซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญคือรองนายกรัฐมนตรีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานการประชุมตั้งแต่ต้นจนบรรลุข้อตกลงRCEP

4. มินิ-เอฟทีเอ.( Mini-FTA)
เป็นกลยุทธ์ใหม่เพิ่มโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเปิดตลาดเมืองรองในประเทศต่างๆปูทางสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยรัฐมนตรีพาณิชย์เดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์กับเมืองต่างๆในหลายประเทศเช่น ไห่หนาน กานซู
และเสิ่นเจิ้นของจีน เมืองโคฟุของญี่ปุ่น เมืองเตลังกานาของอินเดีย และปูซานของเกาหลีใต้ เป็นต้น

5. FTAและการเปิดเจรจา FTA รอบใหม่
ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้วถึง 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นจุดหมายการลงทุนและการค้า รวมทั้งการเปิดเจรจาFTAกับสหภาพยุโรป อังกฤษ EFTAและUAE

6. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
เป็นอีกปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าการลงทุนในการสร้างศักยภาพเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โครงการรถไฟสี่รางทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการทางหลวงระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)

7. ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศ
ล่าสุดทางการตั้งเป้าหมายลงทุนใน EEC ระยะที่ 2 ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะแรกที่ตั้งเป้าไว้ 1.7 ล้านล้านบาท (2561-2564)

8. ฐานการค้าการลงทุนใหม่ 18 กลุ่มจังหวัด
คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)ร่วมมือกันเดินหน้าโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพื่อกระจายการลงทุนกระจายฐานเศรษฐกิจใน18กลุ่มจังหวัดครอบคลุม77 จังหวัดจะมีนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศจากจีน อาเซียน ตะวันออกกลางและอีกหลายประเทศมาร่วมลงทุนในโครงการนี้เช่น นิคมอุตสาหกรรมเมืองอุดรฯ.ในกลุ่มอีสานตอนบน และโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ในกลุ่มภาคกลางตอนล่าง
ตอบโจทย์ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร(Food Security)ของโลก

สำหรับการค้าระหว่างไทย-จีนนั้น
ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 รวมทั้งยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 โดยในปี 2565 มูลค่าการค้า ไทย-จีน 134,997.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จีนนำเข้าจากไทย 56,517.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.6 จีนส่งออกไปไทย 78,479.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 สินค้าสำคัญที่ไทยชงส่งออกจีน ได้แก่ เครื่องจักร ผัก ผลไม้และธัญพืช ยางพารา พลาสติก ไม้ น้ำตาล และอลูมิเนียม ด้านปศุสัตว์ ส่งออกเนื้อไก่และผลพลอยได้มากที่สุด จำนวน 84,653 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,223 ล้านบาท ซึ่งจีนมีความต้องการสูง

ทางด้านการค้าอาเซียน
สินค้าส่งออกหลักของไทยที่สำคัญ คือ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับมูลค่าการค้าในปี 2565 รวม 4,351,095.32 ล้านบาท อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.9 % มูลค่าส่งออก 2,490,999.09 ล้านบาท อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.33 % มูลค่าการนำเข้า 1,860,096.23 ล้านบาท อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 27.52 % ด้านปศุสัตว์ ไทยเป็นประเทศชั้นนำในการผลิตผลิตภัณฑ์นมของกลุ่มอาเซียน สินค้าส่งออกหลัก คือ ผลิตภัณฑ์นม รองลงมาคือ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ปริมาณส่งออก 196,578 ตัน คิดเป็นมูลค่า 21,444 ล้านบาท ประเทศผู้นำเข้าสำคัญของผลิตภัณฑ์นม คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนเนื้อไก่ คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นตลาดสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลที่สำคัญ และเมื่อปลายปี 2565 สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นในประเทศบูรไน และเปิดตลาดสัตว์ปีกไปยัง อินโดนีเซียประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและฟิลิปปินส์ด้วย

ในส่วนของการค้าตะวันออกกลาง มูลค่าการค้าปี 2565 รวม 1,581,812.29 ล้านบาท อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 61 % มูลค่าส่งออก 380,029.01 ล้านบาท อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 35.57 % มูลค่าการนำเข้า 1,201,783.28 ล้านบาท อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 71.16 % สินค้าส่งออกหลักสำคัญ ได้แก่ 1. รถยนต์และส่วนประกอบ 2. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 3.ไม้และผลิตภัณฑ์ 4. ข้าว และ 5. ผลิตภัณฑ์ยาง ด้านการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ส่งออก 7,291.97 ตัน มูลค่า 717.34 ล้านบาท

เมื่อรวมการค้าของไทยในตลาดอาเซียน-จีน-ตะวันออกกลางมีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาทและจะขยายตัวเติบโตยิ่งขึ้นด้วย”8ลมใต้ปีก”เสมือนเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนหรือคานงัดเศรษฐกิจสู่ความสำเร็จและเป้าหมายใหม่ของไทย.

ที่มา :
การบรรยายพิเศษของนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ในหัวข้อ “ศักยภาพและโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในจีน-ตะวันออกกลางและอาเซียน” ในงานสัมมนาธุรกิจ & Business Talk ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่นเมื่อเร็วๆนี้.