จันทบุรี-รมช.มนัญญา ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เดินหน้าสร้างความมั่นใจรณรงค์บริโภคผลไม้คุณภาพภาคตะวันออกพร้อมชูกลไกสหกรณ์หนุนการผลิตและการตลาดกระจายสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ

จันทบุรี-รมช.มนัญญา ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เดินหน้าสร้างความมั่นใจรณรงค์บริโภคผลไม้คุณภาพภาคตะวันออกพร้อมชูกลไกสหกรณ์หนุนการผลิตและการตลาดกระจายสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ

​ บ่ายวันนี้ 11 มี.ค.66) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีติดตามการดำเนินงานและความก้าวหน้าตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสุภาพ เกิดบุญ สหกรณ์จังหวัดจันทบุรี หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดจันทบุรี นายสุนทร นพพันธ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี


​ โอกาสนี้ รมช.มนัญญา เป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์การบริโภคผลไม้คุณภาพภาคตะวันออกโดยกระจายสู่ตลาดภายในประเทศผ่านกลไกสหกรณ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมมอบแนวทางการจัดการผลไม้ภาคตะวันออก และมอบเงินกองทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถาบันเกษตรกร ปี 66 วงเงิน 11.6 ล้านบาท แก่ผู้แทนสหกรณ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด สหกรณ์การเกษตรสอยดาว จำกัด สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านอ่างคีรี จำกัด และพบปะสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร ผู้แทนภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างการรับรู้ให้เข้าใจนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ การดำเนินธุรกิจสหกรณ์ พร้อมทั้งมอบแนวทางการจัดการผลไม้คุณภาพภาคตะวันออก และให้กำลังใจแก่สมาชิกสหกรณ์ด้วย


​“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการสร้างโอกาสที่จะปรับลักษณะของตลาดให้เข้าใกล้ตลาดแข่งขันสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มช่องทางผู้ซื้อสินค้าเกษตรให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจการกำหนดราคาของเกษตรกร ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มทักษะการแปรรูปสินค้า/ผลิตภัณฑ์ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ และบริหารจัดการสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิตกับผู้ขาย เข้าสู่ระบบการตลาด โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ และการซื้อขายสินค้าเกษตรแบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้สหกรณ์มีบทบาทในการจัดการผลผลิตและจัดการตลาดให้กับผลผลิตของสมาชิกอย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร เพื่อให้สินค้าเกษตรมีตลาดรองรับที่แน่นอน ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชน คนไทยบริโภคผลไม้คุณภาพภาคตะวันออก และกระจายสินค้าสู่ตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยฟื้นฟู พัฒนา และยกระดับให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยกระดับเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว


​จากนั้น รมช.มนัญญา เยี่ยมชมบูธนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชน อาทิ นิทรรศการการเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดผลไม้ภายในประเทศ การจัดการทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐาน GAP มาตรการการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนจังหวัดจันทบุรี การสาธิตการตรวจก่อนตัดทุเรียน นิทรรศการผลการรวบรวมผลไม้ของสถาบันเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี ผลิตภัณฑ์การสร้างมูลค่าผลผลิตเหลือใช้ “ถ่านกำจัดกลิ่นจากเปลือกมังคุด” จากกลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพตำบลฉมัน สังกัดสหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด ผลิตภัณฑ์การแปรรูปมังคุด/ทุเรียน จากกลุ่มแปรรูปบ้านปลายคลอง สังกัดสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี จำกัด ผลผลิตพืช ผัก และผลิตภัณฑ์การแปรรูปพืชผักเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การบริหารจัดการแปลงผลิต Organic/GAP ของทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ โดย นายสุธีร์ ปรีชาวุฒิ ประธานกลุ่มทายาทสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด​​


จากนั้น รมช.มนัญญา และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนทุเรียนกระดุม ของ นายภานุ ชัยกุล สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง ปลูกทุเรียนบนพื้นที่กว่า 40 ไร่ เป็นทุเรียนพันธุ์กระดุม จำนวน 8 ไร่ และพันธุ์หมอนทอง เป็นสวนผลไม้ที่มีการจัดการสวนตามหลักการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practices) ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 65 โดยได้รับการสืบทอดองค์ความรู้ในการทำการเกษตรทั้งผลไม้ต่อมาจากบิดา มีความโดดเด่นในการพัฒนาศักยภาพการผลิต สามารถผลิตทุเรียนกระดุมและทุเรียนหมอนทองที่ให้ผลผลิตตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต สำหรับรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนในปีนี้ ทุเรียนพันธุ์กระดุมเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม และทุเรียนพันธุ์หมอนทองเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนโครงการยกระดับมาตรฐาน GAP สนับสนุนองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าปลอดภัย และการตรวจรับรองแปลงผลิตของสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกได้รับมาตรฐาน GAP อย่างทั่วถึง สามารถผลิตผลไม้คุณภาพ ปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ


​ นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนทุเรียนพันธุ์หมอนทองของ นายอรรณพ ปฐมพฤกษ์วงษ์ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด มีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 22 ไร่ ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 63 โดยได้รับการสืบทอดองค์ความรู้ในการทำการเกษตรต่อมาจากบิดา และพัฒนาต่อยอดการผลิตเป็นรูปแบบการบริหารจัดการแปลงผลิตสมัยใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีการผลิต ยุคใหม่ ซึ่งรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนหมอนทองในปีนี้ จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณวันที่ 20 เมษายน 2566 เป็นต้นไป


​ สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2517 ปัจจุบันมีสมาชิก 2,242 ราย สหกรณ์ดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมผลผลิต โดยสหกรณ์รวบรวมผลไม้จากสมาชิกและบุคคลภายนอก เพื่อจำหน่ายไปยังห้างแมคโคร เครือข่ายสหกรณ์ และผู้บริโภคภายในประเทศ ปีที่ผ่านมาสหกรณ์สามารถรวบรวมผลไม้ อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง สละ ทุเรียน ปริมาณรวม 789.4 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 80.16 ล้านบาท และในปี 66 สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ โครงการบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถาบันเกษตรกร จำนวน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อรวบรวมผลผลิต (ผลไม้) และใช้ในการบริหารจัดการตลาดผลไม้ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม


​ทั้งนี้ กรมฯ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี ได้สนับสนุนเงินกู้เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ให้กับสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ปี 62 จนถึงปัจจุบัน รวม 53 แห่ง วงเงินกู้รวม 272.410 ล้านบาท ทำให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยมีสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีมากกว่า 7,628 ราย ได้รับประโยชน์จากเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ส่วนปี 66 กรมฯ มีแผนการสนับสนุนเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ สำหรับผลไม้ในภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด และระยอง สหกรณ์จำนวน 8 แห่ง จำนวนเงิน 17.80 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการและพัฒนาธุรกิจรวบรวมผลไม้ อาทิ เงาะ ทุเรียน และมังคุด เพื่อให้สหกรณ์สามารถรองรับผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์และลุ่มเกษตรกร เพิ่มปริมาณการรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์และสร้างโอกาสรักษาและขยายตลาดผลไม้คุณภาพในสหกรณ์ รวมทั้งเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายผลไม้ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกด้วย


​ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การตลาด ได้แก่ โรงเรือนปลูกผักปลอดสารพิษ โรงบรรจุอาหารสัตว์ระบบสุญญากาศ เครื่องบรรจุถุงนม รถโฟล์คลิฟท์ และเครื่องตัดหญ้าสะพายหลัง ให้แก่สหกรณ์ 3 แห่ง รวมมูลค่า 6.522 ล้านบาท ส่งผลให้สหกรณ์มีปริมาณธุรกิจรวบรวม 5.580 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 103.087 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 2,555 ราย จากการที่กรมฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์การตลาดให้กับสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ ส่งผลให้ปี 65 ที่ผ่านมา สหกรณ์สามารถรวบรวมและกระจายผลผลิตไปยังตลาดปลายทางต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ห้างโมเดิร์นเทรด และเครือข่ายสหกรณ์/ผู้บริโภคภายในประเทศ มีปริมาณมากกว่า 6,895 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 368.943 ล้านบาท สำหรับในปี 66 สหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรีมีเป้าหมายในการรวบรวมและกระจายผลผลิตไปยังตลาดภายในและภายนอกประเทศ รวม 379 ล้านบาท

 

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์รวมข่าวภาคตะวันออก