หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประทานเทียนมาฆะประทีป และโคมเทียนแก้ว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันมาฆบูชา สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ประจำปี 2566

หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประทานเทียนมาฆะประทีป และโคมเทียนแก้ว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันมาฆบูชา สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ประจำปี 2566

วันศุกร์ ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เมื่อเวลา ๑๖.๑๓ นาที หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประทานเทียนมาฆะประทีป และโคมเทียนแก้ว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันมาฆบูชา สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ประจำปี 2566 ณ วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เขตตลิ่งชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี นางชดาวรรณ ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน ดร.สุทธิพงศ์ เสมสูงเนิน (เปรียญ) นายกสมาคมพุทธบริษัทใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาสมาคมฯ หม่อมราชวงศ์ภคพล ชยางกูร หม่อมหลวงวรานุชสรณ์ วัชรีวงศ์ หม่อมหลวงปานวาด ศุขสวัสดิ์ หม่อมหลวงสุธีเทพ จรูญโรจน์ เฝ้ารับเสด็จ จากนั้นผู้แทนทูตมาฆประทีป ประจำปี ๒๕๖๖ ผู้แทนคณะกรรมการวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร และคณะกรรมการสมาคมพุทธบริษัทฯ ถวายพวงมาลัย กรรัยเสด็จ

จากนั้นทรงเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กรมดุริยางค์ทหารบก บรรเลงเพลง ถวายความเคารพเสร็จจึง เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงวางพวงมาลัยถวายเป็นพุทธบูชา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงคม และทรงสุหร่ายเทียนมาฆประทีป โคมเทียนแก้ว จากนั้นประทับนั่งที่ประทับรับรอง ทรงศีล เมื่อพระสงฆ์ ถวายศีล จบ นายกสมาคมพุทธบริษัทใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ทูลถวายรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการ ประทานเทียนมาฆประทีป และโคมเทียนแก้ว เพื่อเชิญไปถวายจุดบูชาพระรัตนไตร เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาฆะบูชารำลึก แก่วัด และพุทธสถาน จำนวน ๔๐ แห่ง ทั่วประเทศ

เสร็จแล้ว นายณรงค์ฤทธิ์ คิดเห็น นักจัดรายการวิทยุและพิธีกรสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนโครงการเข้ารับมอบประทานของที่ระลึก ตามลำดับ และประทานประกาศคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาสมาคม จำนวน ๓ ท่าน แล้วเสร็จ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายแด่พระสงฆ์ ประทับนั่ง ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ ถวายอนุโมทนา จบ เสด็จไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย ทรงลาพระสงฆ์ พระเทพวิมลโมลี ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพฯ เจ้าอาวาสวัดรัชฎาธิฐานราชวรวิหาร ประธานสงฆ์ ถวายของที่ระลึก จากนั้นเสด็จออกจากพระอุโบสถ พระภิกษุ ถวายของที่ระลึก ฉายพระรูปร่วมคณะกรรมการ ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ สมาคมพุทธบริษัทใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ๑ ชุด จากนั้นทรงเสด็จกลับ


นายยุทธพงษ์ เอี้ยงอ้าย เลขานุการในองค์หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ กล่าวว่าประวัติความเป็นมาวันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คำว่า “มาฆะ” นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์”แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”

ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่

1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6

4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งคำว่า “จาตุรงคสันนิบาต” นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
– จาตุร แปลว่า 4
– องค์ แปลว่า ส่วน
– สันนิบาต แปลว่า ประชุม
พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน

โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง


ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา
ด้วยหม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ทรงเป็นราชสกุลสืบมาจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงบำเพ็ญองค์อยู่ในจริยวัตร ปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาตลอดจนปัจจุบัน จึงทรงสานต่อ และสืบอนุรักษ์ ส่งเสริมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะวันมาฆบูชา ตามรอยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 สืบมา