ลำพูน – ผู้ว่าฯเชียงใหม่ เปิดโครงการ “อบรมทักษะรู้เท่าทันสื่อกีฬา” ครั้งที่ 3

ลำพูน – ผู้ว่าฯเชียงใหม่ เปิดโครงการ “อบรมทักษะรู้เท่าทันสื่อกีฬา” ครั้งที่ 3 พร้อมชื่นชม “สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาออนไลน์” จัดกิจกรรมให้ความรู้นักข่าวท้องถิ่นอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรม ดิ เอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีพิธีเปิดโครงการ “อบรมทักษะรู้เท่าทันสื่อกีฬา” ครั้งที่ 3 ในโซนภาคเหนือ จากทั้งหมด 4 ครั้งทั่วทุกภูมิภาค จัดโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาออนไลน์

โดยได้รับเกียรติจาก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร(ผู้ว่าฯเซมเบ้) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายวันกล้า ขวัญแก้ว นายกสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาออนไลน์, นายมนูญ อุทะกะวารี เลขาธิการสมาคมฯ ในฐานะประธานโครงการฯ, นายธีรัช โพธิ์พานิช อุปนายกฯ, นายณฤต ศรีทอง อุปนายกฯ, นายสุรเดช อภัยวงศ์ กรรมการฯ, นายวิศรุต มีบำรุง กรรมการฯ, นาย​ธนทร เรืองศิริ​ กรรมการฯ, นายทีปกร โกมลพันธ์พร อัยการประจำสำนักอัยการสูงสุด, นางสาว(ดอกเตอร์)สีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมงานในครั้งนี้ โดยมีสมาชิกเเละภาคีเครือข่ายเข้าร่วมอบรมกันอย่างคึกคัก ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์, เคเบิ้ลทีวี, วิทยุกระจายเสียง, สื่อออนไลน์ และ ยูทูบเบอร์ ในจังหวัดเชียงใหม่ และใกล้เคียง กว่า 30 คน

ผู้ว่าฯเซมเบ้ กล่าวว่า ​​”ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการอบรมรู้เท่าทันสื่อกีฬาในวันนี้ สื่อมวลชน เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่สำคัญ ที่มีบทบาทอย่างมากในสังคมปัจจุบันที่มีช่องทางการสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าถึงได้หลากหลาย โดยเฉพาะ สื่อออนไลน์ ที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีของผู้บริโภคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ โดยเฉพาะข่าวสารด้านกีฬา ซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก แต่บางครั้งก็อาจจะมาพร้อมกับการพนัน ทั้งทางตรงและแอบแฝงรูปแบบต่าง ๆ”


​ ​
“ผมขอชื่นชม สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาออนไลน์ ที่ได้จัดโครงการอบรมทักษะรู้เท่าทันสื่อกีฬา 4 ภาค 4 จังหวัด ซึ่งได้จัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และครั้งที่สองที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ เป็นจำนวนมาก ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมรู้เท่าทันสื่อกีฬา ครั้งที่ 3 ในโซนภาคเหนือ ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างองค์ความรู้ เพิ่มทักษะ ความเข้าใจ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้เข้ารับการอบรมในการเปลี่ยนเเปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ ให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดการชี้นำ ไม่ยุยงส่งเสริม หรือนำไปสู่ธุรกิจแฝง ที่ขัดต่อกฎหมายและศิลธรรมอันดีของสังคม และไม่กลายเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดกฎหมายของกลุ่มบุคคลใด”

“ผมขอให้การฝึกอบรมในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ขอให้ทุกท่านที่เข้ารับการอบรมประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นแบบอย่างของการเป็นสื่อมวลชนที่สร้างสรรรค์ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

สำหรับการอบรมครั้งนี้จัดขึ้น 2 วัน ในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ความรู้ในเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง, แนวทางการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การพนันฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่, กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, ทำข่าวอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิเด็ก, หลักการสร้างคอนเทนท์เพื่อดึงดูดใจผู้อ่าน/ผู้ชม, การพัฒนาคอนเทนท์ด้วยนวัตกรรมเสียง AI ในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และ เทคนิคกระบวนการสัมภาษณ์บุคคลเพื่อนำมาประกอบข่าวแบบง่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะมีภาคปฎิบัติจริงและทำแบบทดสอบ จากนั้นจะมี​พิธีมอบประกาศณียบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรมฯ

 

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน