ผบ.ตร.ควง ปลัด มท.,ปลัด สธ.และเลขา ป.ป.ส. ตรวจเยี่ยมโครงการ“หนองบัวลำภูต้นแบบสีขาวปลอดยาเสพติด”

ชื่นชมความสำเร็จ ชงเป็นโมเดลยั่งยืนต้นแบบ ขยายใช้ทั่วประเทศสนองนโยบายรัฐบาล ด้านผู้บำบัดขอบคุณภาครัฐ เหมือนได้ชีวิตใหม่ พร้อมมอบรางวัล “ทำดีมีรางวัล” ให้ สวญ.สภ.หัวโทน จ.ร้อยเอ็ด ผู้คิดค้นรูปแบบเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวช


เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัยผู้บัญชาการ ประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.พงพิพัฒน์ ศิริพรวิวัฒน์ ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดําเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จังหวัดหนองบัวลําภู ในระยะเวลาเร่งด่วน 3 เดือน (หนองบัวลําภูต้นแบบสีขาวปลอดยาเสพติด) ณ ศูนย์ปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนบ้านท่าอุทัย (ศาลาประชาคมบ้านท่าอุทัย) ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู โดยมี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ให้การต้อนรับ

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญใน ต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบำลำภู มติ ครม. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นโมเดลต้นแบบแก้ปัญหายาเสพติด
จังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้จัดทำโครงการ “หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาว” มีผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน บูรณาการร่วมกันทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข มีผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดหนองบัวลำภูในระยะเวลาเร่งด่วน 3 เดือน ด้วยแนวทาง “หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาวปลอดยาเสพติดครบวงจร” ที่ครอบคลุมมาตรการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาด้วยแนวคิด Change for Good โดย “5 เสือพาพี่น้องทำความดี” ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และคุ้ม 2) จัดทำตู้ราชสีห์ ผ่านระบบ QRCODE กระจายทุกหมู่บ้าน ตลาด ชุมชน สถานที่ราชการในทุกอำเภอ เพื่อประชาชนร้องเรียนร้องทุกข์ และแจ้งเบาะแสการกระทำผิด

3) จัดชุดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รพ.สต. ตำรวจ อาสาตำรวจ และหัวหน้า/คณะกรรมการคุ้ม 5,149 คุ้ม คัดกรองและดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยมี อสม. และ กม. ที่ผ่านการอบรมการดูแลสังเกตผู้ป่วย ทั้งมีทีมผู้พิทักษ์ และชุดนาคาพิทักษ์ เข้าระงับเหตุทันที หากมีผู้ป่วยคลุ้มคลั่ง 4) จัดทำ Family folder รวบรวมข้อมูลปัจจัยเพื่อเลิกยาเสพติด การช่วยเหลือ และข้อมูลครอบครัว ครอบคลุมทั้งสุขภาพ รายได้ และข้อมูลอื่น ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทหมู่บ้าน/ชุมชนมีส่วนร่วม ด้วยกองทุนแม่ของแผ่นดิน 272 กองทุน กองทุนหมู่บ้านยั่งยืน 67 หมู่บ้าน ซึ่งจากการ Re X-ray ข้อมูลในพื้นที่ พบผู้เสพ 2,044 คน ผู้ค้า 389 คน ผู้ป่วยจิตเวช 320 คน และได้คัดกรองประชาชนอายุ 12-65 ปี ในชุมชน พบผู้เสพ 701 คน เข้ารับการคัดกรองจำแนกเป็นสีแดง เข้าบำบัดรักษาที่โรงพยาบาล และสีเหลือง สีเขียว บำบัดโดยชุมชน และในด้านปราบปราม ได้สนธิกำลังตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ถนนสายหลัก 7 จุด ถนนสายรอง 721 จุด ทำการสุ่มตรวจ 644 ครั้ง ตรวจพัสดุไปรษณีย์ 6 ครั้ง ขยายผลเครือข่ายยาเสพติดทำการยึดทรัพย์แล้ว 2 คดี และได้สุ่มตรวจเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหาสารเสพติด 76 หน่วย 3,783 ราย พบมีสารเสพติด 43 ราย เข้ารับการบำบัดรักษา


มีโครงการชุมชนยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือ โครงการชุมชนยั่งยืนบ้านท่าอุทัย ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เป็นการบูณาการร่วมกันของตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ชุมชน ท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่และวัดเข้ามามีส่วนในการร่วมกันแก้ปัญหา ปูพรมค้นหาผู้เสพในบ้านท่าอุทัย มีผู้เสพสมัครใจเข้าบำบัดจำนวน 48 ราย คัดกรองเป็นสีแดง 3 ราย นำส่งรักษาที่ รพ.นากลาง สีเหลือง 44 ราย และสีเขียว 1 ราย หลังจากนั้นนำทุกคนเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูตามรูปแบบ CBTx โดยใช้ชุดปฏิบัติการยั่งยืน จัดกิจกรรมบำบัดในรูปแบบผสมผสาน ทั้งศาสนาบำบัด อาชีพบำบัด และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์บำบัด เช่น การออกกำลังกาย การปลูกผัก ตัดอ้อย สามารถสร้างรายได้เสริมหลังฟื้นฟูสำเร็จ มีการตรวจปัสสาวะซ้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยังมีผู้ที่มีผลติดยาเสพติดอยู่ไม่กี่ราย ส่วนที่เหลือหายเป็นปกติแล้ว คนที่ยังเลิกไม่ได้ ก็มีการรักษาต่อเนื่องไป ที่โครงการประสบความสำเร็จเพราะชุมชน ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ให้กำลังใจสร้างความเชื่อมั่นผู้เสพให้ ลด ละ เลิก ร่วมกันตั้งฉายาว่า “ผู้กล้าท่าอุทัย” ทำให้ผู้เสพมีกำลังใจ บำบัดฟื้นฟูผ่าน เป็นคนดีคืนสู่สังคม ใช้ชีวิตปกสุขร่วมกับชุมชนได้


สำหรับบรรยากาศการตรวจเยี่ยมโครงการ เป็นไปด้วยรอยยิ้ม ความสำเร็จที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ผู้เสพบางส่วนที่ผ่านโครงการแล้วได้มีงานทำ ได้ก้มกราบ ขอบคุณทั้งน้ำตากับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้นำชุมชน ครอบครัวผู้เข้าร่วมโครงการได้ขอบคุณทุกๆภาคส่วนที่นำโครงการดีๆ เข้ามาช่วยบำบัดฟื้นฟู นำลูกหลานที่ติดยา ให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีคืนสู่สังคม ครอบครัว เหมือนได้ชีวิตใหม่
นอกจากนี้ ผบ.ตร.ยังได้มอบใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลตามโครงการ “ทำดีมีรางวัล” ให้ พ.ต.ท.สมเกียรติ บัวนิล รรท.สวญ.สภ.หัวโทน จ.ร้อยเอ็ด ที่นำเอาเทคโนโลยี “line” มาใช้ในการบริหารจัดการเชิญ ครอบครัวผู้เสพ ผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข มาช่วยกันบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามโครงการชุมชนยั่งยืนฯ จนสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นผู้คิดค้นมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรง (หัวโทนโมเดล) ตามการขับเคลื่อนโครงการนาคาพิทักษ์ รักษ์ประชา ปัจจุบันมีทีมเผชิญเหตุ 2,549 ทีม และทีมผู้พิทักษ์ 3,361 ทีม พร้อมบูรณาการเจ้าหน้าที่ฟื้นฟู และส่งเสริมทักษะใช้ชีวิตในสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตในสังคมได้

ผบ.ตร.กล่าวว่า “ หลังการมีมติประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการเรื่องยาเสพติด กำหนดให้จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นต้นแบบของจังหวัดสีขาว ตนได้ส่งชุดตำรวจภูธรภาค 4 มาช่วยในการปราบปราม และส่งทีมวิทยากรต้นแบบ มาช่วยในชุมชนยั่งยืน สามารถค้นหาผู้เสพได้มาก และปราบปรามยาเสพติดได้เป็นอย่างดี แต่ภารกิจการแก้ปัญหายาเสพติดยังไม่จบ การทำงานต้องบูรณาการพื้นที่ที่ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทุกจังหวัด เป็นขุนพลช่วยสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ลงพื้นที่แก้ปัญหาและติดตามการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะ “การลงพื้นที่” เป็นคำตอบสุดท้ายที่พี่น้องประชาชนจะพึงพอใจและรู้สึกว่าปลอดภัย ดังนั้นตำรวจทุกหน่วยต้องร่วมกันลงพื้นที่ร่วมกันบูรณาการกับฝ่ายปกครองและทุกหน่วยอย่างจริงจังต่อเนื่อง


จังหวัดหนองบัวลำภู ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามโครงการ ““หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาว” มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้มแข็ง นั่งหัวโต๊ะร่วมกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร สาธารณสุข ชุมชน รวมทั้งวัด ในการนำผู้เสพเข้าสู่ขบวนการบำบัดฟื้นฟู โดยเฉพาะโครงการชุมชนยั่งยืนฯ บ้านท่าอุทัย ซึ่งหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรม ทุกภาคส่วนลงพื้นที่ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง มีการค้นหาผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการชุมชนบำบัดฟื้นฟู ฝึกอาชีพ สร้างรายได้ ที่สำคัญ ชาวบ้านต่างให้กำลังใจผู้เสพให้ลดละเลิก จนโครงการประสบความสำเร็จ สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้


ทั้งนี้จะได้นำโครงการ หนองบัวลำภูโมเดล ที่ประสบความสำเร็จ ขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเอาไปปรับใช้ ตามแนวทางที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง ให้ไปขับเคลื่อนตามโมเดลนี้ ในส่วนของตำรวจจะได้สั่งการไปยังผู้บังคับการจังหวัด ผู้กำกับการ หัวหน้าสถานีทั่วประเทศ เพื่อร่วมเป็นขุนพลเคียงข้างฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ร่วมแก้ปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืนครบวงจรตามนโยบายรัฐบาล”