มุกดาหาร-“ยุทธการเปิดฟ้าเมืองมุก” พิธีปล่อยแถวประกาศสงครามกับยาเสพติด ประจำปี 2566

มุกดาหาร-“ยุทธการเปิดฟ้าเมืองมุก” พิธีปล่อยแถวประกาศสงครามกับยาเสพติด ประจำปี 2566


เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. พ.อ.ภูษิต พลาเศรษฐ รอง ผอ.รมน.จังหวัด ม.ห.(ท.)/รอง ผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.210 ร่วมพิธีปล่อยแถวประกาศสงครามกับยาเสพติด “ยุทธการเปิดฟ้าเมืองมุก” ประจำปี 2566 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร โดยมีนายวรญาณ บุญณราช ผวจ.ม.ห./ผอ.รมน.จังหวัด ม.ห./ผอ.ศอ.ปส.จ.มห. เป็นประธาน พร้อมด้วยปลัดจังหวัดมุกดาหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดจำนวน 360 นาย เข้าร่วมพิธี

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งตามที่กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานสาธารณะสุข องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครองท้องที่ และเครือข่ายจิตอาสาได้ประกาศสงครามกับยาเสพติด โดยการเพิ่มความเข้มงวดในด้านป้องกัน โดย ผอ.ศอ.ปส.จ.มห. ได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ดังนี้


1. ให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างภูมิคุ้มกันด้วยความรู้และหลักคิดที่ถูกต้องให้กับเยาวชน สร้างกลไกเฝ้าระวังยาเสพติด เพื่อป้องกันสถานศึกษาให้เป็น “พื้นที่สีขาว” อยู่เสมอ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และสนับสนุนการบำบัดรักษา
2. ด้านการสกัดกั้น : ให้หน่วยงานความมั่นคง เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติด ตามแนวบริเวณชายแดน
3. ด้านการปราบปราม : ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเชิงรุก ในการปราบปราม-จับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และจัดส่งข้อมูลให้สำนักงาน ป.ป.ส. ขยายผลไปสู่การทำลายเครือข่ายจับกุมนายทุน และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติดที่นำเงินมาจากการฟอกเงิน และให้หน่วยงานศาลและอัยการ เร่งรัดกระบวนการทางคดีอายา และด้านการบำบัดฟื้นฟู


4. ให้กระทรวงสาธารณะสุข เร่งรัดจัดทำกฎหมายลำดับรอง หรืออนุบัญญัติ กฎกระทรวงระเบียบประกาศต่าง ๆ สำหรับใช้ในการบำบัดรักษา คัดกรองผู้เสพ-ผู้ติดยาเสพติด แล้วนำเข้าสู่กระบวนการอย่างเหมาะสมโดยจัดตั้งสถานที่บำบัดรักษา ทั้งโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต.) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง หรือมีอาการทางจิต ที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ให้มีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่เป็น “คู่บัดดี้” ติดตามผู้ป่วยในชุมชน จนกว่าอาการจะหายขาด ตลอดจนสร้างระบบการบำบัดฟื้นฟู ในรูปแบบ “ชุมชนเป็นฐาน” (Community Based Treatment :CBTx)
5. ให้กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมให้ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูมีทักษะความรู้ในสาขาวิชาชีพ พร้อมจัดหาตำแหน่งงานให้มีงานทำ

ทั้งนี้ผู้ค้าและผู้ผลิตให้ดำเนินการจับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด สำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดให้นำเข้ากระบวนการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดติ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเร่ง Re X-ray ค้นหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในแต่ละพื้นที่ตำบล/หมู่บ้าน อย่างเร่งด่วน
**************************************

เดวิท โชคชัย มุกดาหาร รายงาน 092-5259-777