ระยอง-โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการพัฒนาค่ายลูกเสือโรงเรียนพออยู่พอกินและพื้นที่เชื่อมโยง อำเภอวังจันทร์

ระยอง-โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการพัฒนาค่ายลูกเสือโรงเรียนพออยู่พอกินและพื้นที่เชื่อมโยง อำเภอวังจันทร์


วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 12.30-16.00 น. ณ ห้องประชุมพระมหาชนก โรงเรียนบ้านชุมแสง ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยองนายกิตติ  เกียรติ์มนตรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิด รับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการพัฒนาค่ายลูกเสือโรงเรียนพออยู่พอกิน และพื้นที่เชื่อมโยง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ ผู้แทนองค์กร ภาคเอกชน ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง คณะผู้ให้บริการฯ มหาวิทยาลัยบูรพา และผู้เข้าร่วมประชุม โดยพร้อมเพียง


นายกิตติ  เกียรติ์มนตรี กล่าวว่า การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการพัฒนาค่ายลูกเสือโรงเรียนพออยู่พอกิน และพื้นที่เชื่อมโยง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน ของประชาชนในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ ในครั้งนี้  อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ได้ขอใช้ที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ชะแวะ (อำเภอวังจันทร์ บริเวณอ่างเก็บน้ำประแสร์) เนื้อที่ประมาณ 75 – 3 – 28 ไร่ ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อพัฒนาโครงการโรงเรียนพออยู่พอกิน ให้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้และจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนในจังหวัดระยอง ในการพัฒนาพื้นที่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด จากประเด็นปัญหาในพื้นที่โรงเรียนพออยู่พอกิน ที่พบว่ายังขาดการวิเคราะห์ศักยภาพ โอกาสอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

รวมทั้งขาดการออกแบบ พัฒนาและ การบริหารจัดการพื้นที่ศึกษาและพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ โดยควรพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นโซนนิ่ง มีการออกแบบพื้นที่ และกิจกรรมการท่องเที่ยวให้มีความเชื่อมโยง โดดเด่นและสวยงามเพื่อให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้เข้ามาพักและใช้บริการทำกิจกรรมต่าง ๆ และให้เกิดการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่สำคัญในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำในพื้นที่ ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ให้กับเศรษฐกิจชุมชนและจังหวัดระยองโดยรวม ภายใต้นโยบายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ในการพัฒนาพื้นที่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงยกระดับระบบการศึกษาให้มีมาตรฐานสากลและเชื่อมโยงกับการพัฒนาภาคตะวันออก และทิศทางการพัฒนาของจังหวัดระยองในอนาคต

ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน