เชียงใหม่-องค์การสวนสัตว์ ส่งนกกาฮัง (นกกก) กลับบ้าน ณ ดอยหลวงเชียงดาว ครั้งแรกของจ.เชียงใหม่ ในรอบ20ปี

เชียงใหม่-องค์การสวนสัตว์ ส่งนกกาฮัง (นกกก) กลับบ้าน ณ ดอยหลวงเชียงดาว ครั้งแรกของจ.เชียงใหม่ ในรอบ20ปี


องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการศึกษาวิจัยที่เป็นการกอบกู้วิกฤติการณ์การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ด้วยการนำสัตว์ป่าหายากกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูทรัพยากรและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยการนำ “นกกาฮัง” หนึ่งในนกเงือกขนาดใหญ่ที่สุดของไทยปล่อยคืนสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของจังหวัดเชียงใหม่ “นกกาฮัง” หรือ “นกกก” คู่แรกของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นนกกาฮังคู่ที่สองที่ทำการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติภาคเหนือ ภายหลังจากการสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือของประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี

วันที่ 9 มกราคม 2566 ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นายวุฒิชัยม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ นายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ นายสงัด บูรณภัทรโชติ นายอำเภอเชียงดาว นายณัฐกุล ขันทะสอน หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว คณะผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ ประธานมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคเหนือ

องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำโรงเรียน ตัวแทนชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันเปิดโครงการ “การทดลองปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเขตพื้นที่ภาคเหนือ” ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “นกกาฮังปิ๊กบ้าน” โดยการ นำนกกาฮังที่ได้รับการฟื้นฟูพฤติกรรมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของกระบวนการในการฟื้นฟูประชากรนกเงือกขนาดใหญ่ขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายหลังการสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือมานานนับ 20 ปี

จากความสำเร็จขั้นต้นของการนำนกกาฮังคู่แรก ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ. ลำปาง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งนกที่ทำการทดลองปล่อยยังคงสามารถอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ คณะผู้วิจัยของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 6 แห่ง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย การทดลองปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติฯ เป็นครั้งที่ 2 ณ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว (พื้นที่บริเวณดอยหลวงเชียงดาว) ขึ้น ซึ่งถือเป็นนกกาฮังคู่แรก ที่ทำการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแพร่กระจายของนกกาฮังในประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งนี้พบว่า บางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น พื้นที่ทางภาคเหนือ นกกาฮังได้สูญหายจากธรรมชาติไปหมดสิ้นในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ที่มีพันธกิจหลักทางด้านการอนุรักษ์ วิจัยพันธุ์สัตว์ป่าหายากทั้งในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัย ได้ดำเนินความพยายามในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จนมีจำนวนประชากรบางส่วนที่เพียงพอต่อการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ซึ่ง “นกกาฮัง” นั้นถือเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความโดดเด่น ดึงดูดความสนใจของสาธารณะชนทั่วไปในการสร้างให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยได้ จึงมีแนวคิดริเริ่มในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรนกเงือกขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ตามแผนระยะที่ 1 ทางโครงการวิจัยฯ มีแผนการทดลองปล่อยนกกาฮังคู่แรกคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง และคู่ที่สอง ณ พื้นที่ป่าอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 2 ใน 6 เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่เชิงนิเวศ การกระจาย และการอยู่รอดได้ในพื้นที่ โดยจะทยอยปล่อยเพิ่มเติมเป็นระยะๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือแห่งต่าง ๆ รวมถึงจะมีการดำเนินงานติดตามภายหลังการทดลองปล่อยที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ IUCN SSC และ AZA ในการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติที่เป็นไปตามหลักทางวิชาการสากลในอีกหลายปีข้างหน้าต่อไป

จึงถือเป็นวาระสำคัญที่อยากให้เยาวชนและประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์นกกาฮังที่เป็นหนึ่งในนกเงือกขนาดใหญ่ของไทยนี้ ให้สามารถคงอยู่คู่กับจังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนแหล่งต้นกำเนิดวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ารวมถึงมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ ทั้งนี้ดอยเชียงดาว” จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

ซึ่งนกกาฮัง1คู่ ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในวันนี้ได้รับการตั้งชื่อตัวเมียชื่อ
”ปิ๊ก”ภาษาพื้นเมืองแปลว่า กลับ ตัวผู้ ชื่อ “ป่า”เรียกรวมว่า ปิ๊ก ป่า หมายความว่า กลับป่า หรือกลับบ้านที่ป่า เป็นที่เรียบร้อย

วิภาดา/เชียงใหม่