จังหวัดสระบุรี/ร่วมพิธีเปิดศูนย์ 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 และร่วมประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน

จังหวัดสระบุรี/ร่วมพิธีเปิดศูนย์ 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 และร่วมประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.65 ที่ห้องประชุมป่าสัก ศาลากลางจังหวัดสระบุรี นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสระบุรี ได้ร่วมพิธีเปิดศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ผ่านระบบทางไกล ภายใต้แนวคิดชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” โดยกำหนดช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.65 – 4 ม.ค.66 มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นประธานพิธี ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย


โดยเน้นย้ำในระดับพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครองตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ดูแลความปลอดภัย และช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน ซึ่งมาตรการต่างๆที่จะดำเนินการจะเป็นไปตามกฎหมาย หากเมาแล้วขับจะมีการยึดรถไว้ก่อน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนเป้าหมายการลดจำนวนอุบัติเหตุ รัฐบาลได้วิเคราะห์สาเหตุและพยายามที่จะแก้ไขกฎหมาย เพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นให้ได้ทุกปี ส่วนตัวจึงไม่อยากตั้งเป้าว่าจะลดจำนวนเท่าใด เพราะทุกชีวิตมีค่า แต่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยนโยบายการลดอุบัติเหตุได้ดำเนินการมาทั้งปีตามนโยบายของรัฐบาล แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เข้มข้น เพราะประชาชนเดินทางมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ จำเป็นจะต้องกำหนดมาตรการในช่วงเทศกาลเป็นกรณีพิเศษ


อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของศปถ. คือการลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง รวมถึงจะมีการติดตามผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่อำเภอเสี่ยง พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มุ่งลดปัจจัยให้ครอบคลุมทุกมิติ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกภาคส่วนบูรณาการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและจังหวัด เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายตาม 10 มาตรการหลัก และให้ทุกจังหวัดใช้กลไกด่านชุมชนเพื่อป้องปรามกลุ่มเสี่ยงและบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด ตลอดจนดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีจุดตัดทางรถไฟด้วย

/ดำรงค์ ชื่นจินดา/รายงาน