สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ จ.ภูเก็ต เตรียมยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้สิ่งมีชีวิตทางทะเลแห่งแรกของไทย และชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ จ.ภูเก็ต เตรียมยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้สิ่งมีชีวิตทางทะเลแห่งแรกของไทย และชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ตนได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในพื้นที่ทั่วทุกจังหวัดพร้อมรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน ทำให้ทราบถึงปัญหาหลายๆ ด้านที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่เป็นศูนย์รวมของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศต่างๆ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติที่มีทั้งชายหาด เกาะ สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ และปะการัง แต่ในทางกลับกันธรรมชาติที่งดงามกลับได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทำให้ทรัพยากรทางทะเลได้รับผลกระทบและเกิดความเสื่อมโทรม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยและทรงห่วงใยในทรัพยากรใต้ทะเลเป็นอย่างมาก ทรงรับสั่งให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ด้านสัตว์ทะเลหายาก นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินการ โครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย รวมถึงจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถตอบสนองพระดำริ อีกทั้งลดผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น สร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ชาวประมง นักท่องเที่ยว เยาวชนในประเทศให้เกิดความหวงแหนและรักษาทรัพยากรทางทะเลที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวง ทส. เร่งดำเนินงานตามโครงการฯ พร้อมจัดทำแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลขึ้น ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ศึกษาถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่มีมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย และในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้กรม ทช. เร่งดำเนินการและวางแผนการปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมมอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำกับดูแลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด


ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า โครงการพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดภูเก็ต นอกจากจะเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อใช้ในการสร้างจิตสำนึกและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางทะเลและผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยฯ อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการไปยังกรม ทช. เตรียมนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปต่อยอดในการเสริมสร้างศักยภาพของพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ด้านอนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิตทางทะเล ระหว่างหน่วยงานองค์กรการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลต่อสาธารณชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติจังหวัดภูเก็ต ซึ่งบรรจุในแผนระยะ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2569) ของโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งดำเนินการโดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 368,800,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (2565 – 2567) ประกอบด้วยอาคารจำนวน 2 อาคาร ได้แก่ อาคารพิพิธภัณฑ์ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1,400 ตารางเมตร อาคารพักอาศัยของนักวิจัยที่เข้ามาร่วมในการศึกษาด้านงานวิจัยร่วมกับกรม ทช. และบุคลากร 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1,518.45 ตารางเมตร สำหรับภายในอาคารพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและห้องศึกษาเรียนรู้ด้านระบบนิเวศ ประกอบด้วย ห้องจัดแสดงนิทรรศการมาเรียมและยามีล ห้องจัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย : หาดหิน หาดทราย หาดโคลน ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง ห้องจัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย : ทะเลลึก ห้องเก็บตัวอย่างสำหรับตัวอย่างต้นแบบชนิดใหม่ของโลก ห้องเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทางทะเลและสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง สำหรับจัดเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง และห้องเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลมีกระดูกสันหลังสำหรับจัดเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลมีกระดูกสันหลัง


และในวันนี้ (28 ธันวาคม 2565) นับเป็นพระกรุณาธิคุณของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรม ทช. ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กองทัพเรือภาค 3 มณฑลทหารบกที่ 41 ตำรวจภูธรภาค 8 ศาลแขวงภูเก็ต และสมาคมแม่บ้านทหารบก ร่วมเฝ้ารับเสด็จ ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตาม หลังจากการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จ กรม ทช. จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้ด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมถึงตัวอย่างสัตว์ทะเลหายากในแง่มุมต่างๆ ทั้งความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ความชุกชุมของการแพร่กระจาย ตลอดจนผลกระทบที่สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ได้รับจากกิจกรรมของมนุษย์ อันจะเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และการจัดการที่ยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนและประชาชนต่อไป “นายอรรถพล กล่าวในที่สุด”