กาฬสินธุ์ – ผ้าขิดลายไดโนเสาร์สร้างรายได้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน

กาฬสินธุ์ – ผ้าขิดลายไดโนเสาร์สร้างรายได้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน


เปิดอาชีพทอผ้าขิดลายไดโนเสาร์อัตลักษณ์อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์แหล่งค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์สร้างอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้านนายอำเภอสหัสขันธ์เดินหน้าพัฒนาต่อยอด เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักอัตลักษณ์ผ้าขิด และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคนพอเพียง ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ สมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองผ้าขิดลายไดโนเสาร์ต่างพากันหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันมาทอผ้าขิด ลายไดโนเสาร์ หลังว่างเว้นจากภารกิจประจำวัน และอยู่ในช่วงผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อนำออกสู่ท้องตลาดขายสร้างรายได้สู่ชุมชนและครอบครัว


นางหวัน พรหมวงศ์ อายุ 44 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองลายขิดไดโนเสาร์ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคนพอเพียง กล่าวว่า เดิมตนและเพื่อนสมาชิกหลายคนเคยรับจ้างงานฝีมือทอผ้าไหมแพรวาใน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์มากว่า 20 ปี ก่อนที่จะมีความคิดว่าอยากทอผ้าพื้นเมืองตั้งแต่บรรพบุรุษที่เป็นอัตลักษณ์ของชาว อ.สหัสขันธ์ดูบ้าง จากนั้นก็ได้เริ่มกลับมาทอผ้าพื้นเมือง รวมทั้งคิดค้นลวดลายต่างๆ จนกระทั่งมีผู้คิดว่าทำอย่างไรจะนำเอารูปภาพไดโนเสาร์

ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของ อ.สหัสขันธ์มาไว้ที่ผ้าขิดได้ ทำให้สมาชิกและกลุ่มวิสาหกิจได้ลองทอผ้าขิดลายไดโนเสาร์ด้วยมือขึ้นมา และพัฒนาออกแบบเป็นลายไดโนเสาร์รูปลักษณ์ต่างๆ ตามลูกค้าชอบ ออกขายตามถานที่ต่างๆ กระทั่งจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทำให้ปัจจุบันสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับสมาชิกกลุ่มทอผ้าได้เป็นอย่างดี โดยจะมีการปันผลกันเป็นรายปี และหากเฉลี่ยรายเดือนจะมีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท และที่สำคัญยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับสมาชิกที่สืบสานงานฝีมือทอผ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชาวอ.สหัสขันธ์อีกด้วย


ด้านนางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับอำเภอสหัสขันธ์ ถือเป็นพื้นที่ถูกค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ หรือซากฟอสซิลแห่งแรกใน จ.กาฬสินธุ์ และสมบูรณ์ที่สุด รวมทั้งมีการต่อยอดในเรื่องของการท่องเที่ยว เนื่องจากมีพิพิธภัณฑ์สิรินธร รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์
นางสาวแววตา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่นั้น ทางอำเภอได้ดำเนินการส่งเสริมการทอผ้าขิดลายไดโนเสาร์มีอัตลักษณ์ของอ.สหัสขันธ์มาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมนั้นมีรูปแบบลายไดโนเสาร์ตัวเล็กๆ ยังไม่มีอัตลักษณ์ที่หลากหลายพอสมควร หลังจากนั้นได้มีการอบรมและพัฒนาต่อยอด เรื่องของลายผ้าขิดไดโนเสาร์มาเรื่อยๆ

รวมทั้งได้รับการอบรมจากทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อให้ทางวิสาหกิจชุมชนได้ออกแบบเพิ่มเติม ทำให้มีลวดลายใหม่ๆเข้ามา จนเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ซึ่งหลังจากนี้ทางอำเภอสหัสขันธ์จะมีการจัดกิจกรรมประกวดผ้าขิดลายไดโนเสาร์ และผ้าลายอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและต่อยอดทำให้ผู้คนได้รู้จักอัตลักษณ์ผ้าขิด และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับลายผ้าขิดลายไดโนเสาร์จะเป็นงานแฮนด์เมดทอด้วยมือของชาวอำเภอสหัสขันธ์ โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งนี้เริ่มแรกเป็นการทอขายอาชีพเสริม ปัจจุบันหลายวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มอาชีพหลายกลุ่มต่างพากันหันมาทอขายตามตลาด สถานที่ต่างๆ รวมทั้งขายออนไลน์ และยึดเป็นอาชีหลัก ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพเลี้ยงครอบครัวให้กับชาวสหัสขันธ์ได้เป็นอย่างดี