คลินิกกองทุนดีอีสัญจร ตรวจเยี่ยมผู้ได้รับทุนโครงการ“ปรับปรุงระบบวิทยุเรือเดินทะเล (VHF)ฯ”สร้างประโยชน์ต่อวงการเดินเรือมหาศาล

คลินิกกองทุนดีอีสัญจร ตรวจเยี่ยมผู้ได้รับทุนโครงการ“ปรับปรุงระบบวิทยุเรือเดินทะเล (VHF)ฯ”สร้างประโยชน์ต่อวงการเดินเรือมหาศาล


กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดสัมมนาคลินิกกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ภาคตะวันออก) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมพลายไพร์ม จังหวัดระยอง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจแก่ผู้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการโดยมีการจัดประชุมปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อเตรียมการตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนในปีที่ผ่านมา

โดยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โครงการปรับปรุงระบบวิทยุเรือเดินทะเล (VHF) ให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบของประเทศไทยตามมาตรฐาน IMO (International Maritime Organization) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯโดยมีหัวหน้าโครงการและเจ้าหน้าที่กล่าวต้อนรับ จากนั้นได้รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมของโครงการ

โดยสถานีวิทยุเรือ (Bangkok Radio) ภายใต้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานของไทยที่ปฏิบัติตามอนุสัญญา IMO หรือ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรฐานและ แนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งเพื่อเป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก

ปัจจุบันสถานีวิทยุเรือได้ปรับปรุงระบบวิทยุเรือเดินทะเล โดยใช้ระบบ GMDSS (Global Maritime Distress and Safety System) ตามที่ IMO กำหนดซึ่งระบบนี้บังคับใช้กับเรือสินค้าที่มีขนาด 300 ตันกรอส ขึ้นไป เรือโดยสารที่ใช้เส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ และเรือโดยสารที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวน 12 คน ขึ้นไป ซึ่งสถานีวิทยุเรือจะเฝ้าฟังเพื่อรับสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทาง ได้แก่ ระบบวิทยุโทรศัพท์ RT : Radio Telephony (เสียงพูด) ในย่านความถี่ VHF, MF, HF ตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุที่สถานีฝั่งและบนเรือ และผ่านระบบวิทยุสื่อสาร DSC (Digital Selective Calling) ส่งเป็นข้อความย่านความถี่วิทยุ VHF, MF, HF ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องรับส่ง-วิทยุ DSC ที่สถานฝั่งและบนเรือ นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบวิทยุ NAVTEX (Navigation and Meteorological Warning Telex System) เพื่อส่งข่าวสารด้านการเดินเรือระหว่างประเทศแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการแจ้งเตือนอุปสรรคในการเดินเรือต่างๆ เช่น การซ้อมรบ คราบน้ำมันทางทะเล การซ่อมสายเคเบิลใต้น้ำ การพยากรณ์อากาศ การแจ้งคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือแจ้งข้อมูลปลอดภัยเร่งด่วน เช่น การเกิดโรคระบาด เป็นต้น รวมถึงในอนาคตจะมีการแจ้งเตือนทางระบบดาวเทียม INMARSAT C ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา

จากการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ โครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การเตือนภัย และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ที่ส่งเสริม สนับสนุน ด้านเงินทุนให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งโครงการนี้ก็ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกภาคส่วน และยังเป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีเดิมให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมและยกระดับขีดความสามารถในการสื่อสารผ่านวิทยุเรือเดินทะเลได้อย่างครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบของไทยตามมาตรฐาน IMO ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดทางดิจิทัลซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในด้านอื่นๆ ต่อไป”