ปทุมธานี รองผู้ว่าฯปทุมธานี เปิดงาน“ฟาร์มสามารถ: ฟาร์มรัก ฟาร์มร่วมมือ สู่ ฟาร์มเรียนรู้”

ปทุมธานี รองผู้ว่าฯปทุมธานี เปิดงาน“ฟาร์มสามารถ: ฟาร์มรัก ฟาร์มร่วมมือ สู่ ฟาร์มเรียนรู้”

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.65 เวลา 13.00 น. ที่ สมาคมคนพิการปทุมธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี นายเอกวิทย์ มีเพียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดงาน“ฟาร์มสามารถ: ฟาร์มรัก ฟาร์มร่วมมือ สู่ ฟาร์มเรียนรู้” โดยมี คุณกีต้า ซับระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ คุณอาซิส เอลเบห์ริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ดร.วนิดา กำเนิดเพชร ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนานำร่องระบบนิเวศหมู่บ้านดิจิทัลในประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายเขื่อน สุปัญบุตร นายกสมาคมคนพิการปทุมธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเปิดงาน


มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ สมาคมคนพิการจังหวัดปทุมธานี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ภายในสมาคมฯ ภายใต้ชื่อ “ฟาร์มสามารถ” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกผักสลัดอัจฉริยะตามหลัก Universal Design เพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการด้านการเกษตร รวมถึงเป็นพื้นที่ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานฟื้นฟูศักยภาพคนพิการให้ยืนหยัดได้ด้วยตนเองและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนและสังคมคนพิการ ตลอดจนผู้สนใจด้านการทำเกษตรอัจฉริยะ โดยในปี 2563 ได้มีการจัดสร้างโรงเรือนปลูกผักสลัดอัจฉริยะ และการฝึกอบรมระบบการจัดการ การดูแล และการบริหารจัดการด้านการซื้อขาย การทำการตลาดที่เหมาะสม และในปี 2564 ได้จัดสร้างร้านกาแฟ เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายผลผลิตต่างๆภายในสมาคมฯ ซึ่งส่งผลให้คนพิการได้มีโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านการทำงานหาเลี้ยงชีพ และมีโอกาสมีงานทำ ไม่ต้องเป็นภาระของผู้อื่น เป็นไปตามแนวทางและเนื้อความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้


นอกจากนั้นแล้ว ในปี 2565 ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสมาคมฯ ได้หารือกันและมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ฟาร์มสามารถแห่งนี้ ได้เป็นพื้นที่เรียนรู้การเกษตรอัจฉริยะแห่งใหม่ในจังหวัดปทุมธานี โดยมีเป้าหมายเปิดพื้นที่เพื่อการสัมมนาเรียนรู้การทำกิจการส่งเสริมอาชีพสำหรับคนพิการภายนอกและผู้สนใจอื่นๆที่สนใจ
ตลอด 3 ปีของการดำเนินโครงการ ได้มีภาคีเครือข่ายเข้าให้การสนับสนุนมากมาย เช่น จังหวัดปทุมธานี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ข้างต้นแล้ว “ฟาร์มสามารถ”ยังได้รับเลือกจาก United nations Food and Agriculture Organization (FAO) เป็น 1 ใน 1000 หมู่บ้านตัวอย่างจากทั่วโลก ที่นำ digital technology มาใช้ในการเกษตร

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน