กาฬสินธุ์ – คิกออฟโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ธ.ก.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ และสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์คิกออฟจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน


วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นายเชาวฤทธิ์ เกตุดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายวิรุฒ มณีวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์ นางสุภาวดี เอกรักษา ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ร่วมกับนายวีระพงศ์ สืบค้า พาณิชย์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าหน้าที่สำนักงาน พาณิชย์จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่เกษตร จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันเปิดคิกออฟโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์


โดยบรรยากาศที่ ธ.ก.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์วันนี้ ค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากมีเกษตรกรชาวนา ที่ร่วมโครงการฯเดินทางนำสมุดบัญชี และบัตรเอทีเอ็มมารอเตรียมเบิกเงินกันอย่างต่อเนื่อง หลังทราบข่าวว่า ทางรัฐบาลและ ธ.ก.ส.จะโอนเงินรอบแรกเข้าบัญชีของเกษตรกรพร้อมกันทั่วประเทศในวันนี้ 24 พฤศจิกายน 2565


นายวิรุฒ มณีวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามมติ ครม. ได้เห็นชอบดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างยั่งยืน วงเงิน 81,265 ล้านบาท ผ่าน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือที่เรียกว่าค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท 2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66
3.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และ 4.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 มีเป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน โดยจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรตั้งแต่ 24 พ.ย. 65 เป็นต้นไป


นายวิรุฒ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ วันนี้ทางธ.ก.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเปิดคิกออฟโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นการคลิกออฟ และดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ โดย จ.กาฬสินธุ์ มีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือโครงการครั้งนี้ 137,574 ราย วงเงิน 29.05 ล้านบาท

และในวันนี้เป็นการโอนเงินรอบแรก ให้กับเกษตรกรที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนตุลาคมรวมจำนวน 24,726 ราย วงเงิน 5 ล้านกว่าบาท
นายวิรุฒ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือที่เรียกกันว่าช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานเกษตร เพื่อที่จะดำเนินการจ่ายเงินโครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้อีกประมาณ 2 วัน ซึ่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีเกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือกว่า 130,000 ราย


นอกจากนี้ทางธ.ก.ส.ยังได้ดำเนินการมาตรการคู่ขนานโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ และโครงการสินเชื่อ เพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไปอีกด้วย


ด้านนายอภิยุทธ ภูหมั่นคิด ผู้ใหญ่บ้านดงเมือง ม.13 ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการ กล่าวว่า ตนเองปลูกข้าวนาปี ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 20 ไร่ ทราบว่าจะไดรับเงินประกันรายได้ไร่ละ 15,000 บาท ส่วนตัวดีใจ และมองว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะอย่างน้อยเกษตรกรจะได้เงินไปจ่ายหนีสินที่กู้ยืมมาลงทุนทำนา ตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งค่ารถไถ ค่าแรงปักดำ ค่ารถเกี่ยว ค่าขนส่งนำข้าวไปขาย โดยเฉพาะค่าปุ๋ย ที่ขณะนี้มีราคาแพงมาก ทั้งนี้แม้จะเป็นเงินที่ไม่มากมายนักสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับเกษตรกรแล้วถือว่าช่วยได้มากเลยทีเดียว เพราะการทำนาในปีนี้นอกจากเกษตรกรจะประสบปัญหาปุ๋ยแพงแล้ว ยังประสบปัญหาน้ำท่วม และโรคระบาด ทำให้ชาวนาหลายรายได้ผลผลิตน้อยและต้องขายข้าวขาดทุน