“สถาบันปิดทองหลังพระฯ จับมือ “ราชการ-เอกชน” กำหนดกติการ่วมทุน ลดความเสี่ยงให้เกษตรกรและรักษาสิ่งแวดล้อม

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ นำร่องพื้นที่ 3 จังหวัด “ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์แทนการทำนาปรัง” ช่วยลดการใช้น้ำมากกว่า 2 เท่า เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยมีเกษตรกรกว่า 2,296 ราย สนใจเข้าร่วมโครงการฯ คาดเกษตรกรที่เข้าร่วมจะได้ผลผลิตดี มีกำไรขั้นต่ำ ไร่ละ 3,500 – 4,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการทำนาที่สร้างรายได้ไร่ละ 800-1,000 บาท

นายกฤษฎา บุญราช ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้แนวทางการสนับสนุนโครงการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังทำนาปี โดยนายกฤษฎา ระบุว่า ในปัจจุบันตลาดกำลังขาดแคลนข้าวโพดอาหารสัตว์ อันเนื่องมาจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของโลก ในการผลิตข้าวโพดและข้าวสาลี ภาวะสงครามทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ส่งผลให้ราคาข้าวโพดอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นระยะๆ ในขณะที่ประเทศไทยต้องนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์มาจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยสามารถสร้างผลผลิตได้เพียง 4 ล้านตัน ต่อปี ในขณะที่มีความต้องการไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตันต่อปี ดังนั้นในปี 2565 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการ “ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังการทำนาปี” เพื่อเป็นหนึ่งทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรหลังฤดูการทำนา อีกทั้งการปลูกข้าวโพดใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาถึง 2 เท่า ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกษตรกรประหยัดการใช้น้ำในฤดูแล้งได้


นายกฤษฎา บุญราช ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการฯ สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กำหนดแผนงาน และวิธีการทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุดรธานี และประสานงานกับส่วนราชการทั้งในส่วนกลาง และระดับจังหวัด อำเภอ คือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พร้อมทั้งได้ประสานเชิญกลุ่มบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจอาหารสัตว์เข้าร่วมโครงการด้วย โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เข้าร่วมโครงการเป็นรายแรก ทั้งนี้ สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการต้องลงทุนออกค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรโดยไม่คิดดอกเบี้ย ตั้งแต่ขั้นตอนการสนับสนุนเมล็ดพันธ์ุข้าวโพด ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช


“ก่อนลงมือปลูกและระหว่างปลูกข้าวโพดนั้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด จะส่งพนักงานมาร่วมกับเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ ในการตรวจสอบคุณภาพดินและปริมาณน้ำ รวมทั้งแนะนำวิธีการปลูกและบำรุงแปลงข้าวโพด ตลอดจนวิธีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ถูกวิธี ทั้งนี้บริษัทได้ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในราคารับรองขั้นต่ำกิโลกรัมละ 8.50 บาท ต่อความชื้นไม่เกิน 27 เปอร์เซ็นต์ หรือในช่วงผลิตออกสู่ตลาด หากราคาในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นกว่าราคารับรอง บริษัทก็จะรับซื้อในราคาที่สูงขึ้นตามราคาในท้องตลาด ในทางตรงข้ามหากช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาด ราคาข้าวโพดลดต่ำกว่า 8.50 บาท บริษัทจะรับซื้อในราคารับรองที่ตกลงกันไว้ในราคาขั้นต่ำกิโลกรัมละ 8.50 บาท และหากเกษตรกรสามารถร่วมกันปลูกข้าวโพดตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป


บริษัทจะมาตั้งจุดรับซื้อข้าวโพดโดยตรงจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลผลิตไปขายต่างจังหวัด และถูกกดราคารับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งระหว่างปลูกข้าวโพดแล้ว หากเกิดภัยธรรมชาติ โรคระบาดหรือน้ำท่วม ทำให้ข้าวโพดเสียหายทั้งหมด หรือเมื่อเกษตรกรปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว ขายผลผลิตไม่พอกับต้นทุนค่าปัจจัยการผลิต สถาบันปิดทองหลังพระฯ จะร่วมกับส่วนราชการ และบริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ ตรวจสอบพิสูจน์ความเสียหายนั้น หากเป็นจริง บริษัทก็จะไม่เรียกหนี้เงินทุนจากเกษตรกร”นายกฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กำหนดไว้คือเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต้องนำเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน หรือหนังสือรับรองจากส่วนราชการว่าที่ดินที่นำมาร่วมโครงการไม่ใช่ที่ดินป่าสงวนหรือที่ดินสาธารณะมาร่วมโครงการอย่างเด็ดขาด รวมทั้งเมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้ว ห้ามใช้วิธีการเผาทำลายตอซังข้าวโพดหรือเศษหญ้าวัชพืช เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมกับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงว่า ขอให้เกษตรกรได้ปรึกษา หารือ ช่วยกันคิดเปรียบเทียบระหว่างการทำนาปรัง หรือการปลูกพืชอื่นๆ กับการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ว่ามีความแตกต่างอย่างไร ทั้งวิธีการปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว และพืชชนิดไหนจะทำกำไรให้แก่เกษตรกร และสร้างรายได้ ได้เพียงพอ คุ้มค่า ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ขณะเดียวกันหากเกษตรกรเห็นว่ามีบริษัทเอกชนรายใด ที่เสนอเงื่อนไขและข้อตกลงที่ดีกว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด ก็สามารถเชิญชวนมาร่วมโครงการได้ โดยสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะช่วยเกษตรกรตรวจสอบข้อตกลงต่างๆ เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบ


“ขณะนี้มีเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุดรธานี ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 2,296 ราย โดยอยู่ระหว่างการตรวจประเมินแปลงที่มีความพร้อม เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเสี่ยง ทั้งในเรื่องความเหมาะสมของดิน ปริมาณน้ำที่เพียงพอ และแรงงานที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ครอบครัว โดยจะเริ่มลงมือปลูกข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งข้าวโพดอาหารสัตว์จะมีอายุการปลูกประมาณ 4 เดือนหรือ 120 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้ในช่วงเดือนเมษายน 2566 หากเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ตามโครงการ และเงื่อนไขโดยไม่ประสบภัยธรรมชาติแล้ว คาดว่าเกษตรกรจะมีกำไร (รายได้ – ต้นทุน) อย่างต่ำประมาณไร่ละ 3,500 -4,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการทำนาที่ได้รายได้เพียงไร่ละ 800-1,000 บาท” นายกฤษฎา กล่าว


นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังการทำนา เป็นการสืบสาน ต่อยอด และขยายผลตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ประโยชน์จากการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้อย่างยั่งยืน ในเรื่องการคำนึงถึงสภาพภูมิสังคม และหลักการมีส่วนร่วมหรือการระเบิดจากข้างใน มาใช้ในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังการทำนา เพราะสังคมไทยยังเป็นสังคมเกษตรกรรม มีพื้นที่ทำการเกษตรมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งประเทศ หากการดำเนินงานตามโครงการนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว สถาบันปิดทองหลังพระฯ จะพิจารณาขยายผลโครงการไปดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในฤดูฝนหรือเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รวมทั้งจะให้ฝ่ายวิเคราะห์การตลาดของสถาบันฯ รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว กล้วย พืชผัก กาแฟ มะพร้าว ว่าตลาดมีความต้องการมากน้อยเพียงใด เพื่อนำรูปแบบการบริหารโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์มาเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน โดยจะคงรูปแบบการกำหนดราคารับซื้อล่วงหน้าที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร