“วราวุธ” ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในงาน GCNT Forum 2022 รวมพลังภาคธุรกิจนำพาประเทศไทย ก้าวสู่สังคม Carbon Neutrality

“วราวุธ” ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในงาน GCNT Forum 2022 รวมพลังภาคธุรกิจนำพาประเทศไทย ก้าวสู่สังคม Carbon Neutrality


วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) เวลา 11.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เข้าร่วมการประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 ภายใต้แนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges ที่สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) ร่วมกับ สหประชาชาติ ประเทศไทย และองค์กรสมาชิกกว่า 110 องค์กร ทั้งไทยและต่างประเทศรวมพลังจัดขึ้น เพื่อเพิ่มมาตรการรับมือกับวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ


ในการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยมองว่า ภาคเอกชนและสหประชาชาติเป็นภาคีที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG มาส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ การขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนมีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้


จากนั้น นายวราวุธ ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงเป็นลำดับที่ 9 ของโลก ทำให้ต้องปรับปรุง “ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย” หรือ LT-LEDS ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) เพิ่มเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีแนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน และในการประชุม COP27 ระหว่างวันที่ 3- 18 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ ณ เมือง ชาร์ม เอล ชีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จะเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการนำเสนอผลงานความสำเร็จของไทย ในการดำเนินการภายใต้ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส ที่จะแสดงศักยภาพและความพร้อมในการนำพาประเทศไทย ก้าวสู่ Carbon Neutrality อย่างยั่งยืนต่อประชาคมโลกอีกครั้ง

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.