เชียงใหม่-ธปท. สภน. แถลงข่าวเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2565

เชียงใหม่-ธปท. สภน. แถลงข่าวเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2565

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) โดยนางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 3/2565” ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3/2565 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยรายได้ภาคเกษตรขยายตัว ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการส่งออก ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และราคาปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ส่วนด้านผลผลิตเกษตรขยายตัวแม้ชะลอลงบ้างจากผลผลิตสุกรที่ยังหดตัวจากปัญหาโรคระบาด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ตามการผลิตในหมวดอาหาร เช่น ข้าวโพดกระป๋อง ถั่วแระแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์โคนม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวและแป้ง จากความต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมทั้งหมวดเครื่องดื่มปรับดีขึ้นตามกิจกรรมในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว

ภาคท่องเที่ยวขยายตัว จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาภาคเหนือมากขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด 19 และนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ สะท้อนจากการเดินทางเข้ามาภาคเหนือทั้งทางบกและอากาศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราการเข้าพักสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดบริการขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยว หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดยานยนต์ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ตามการลงทุนก่อสร้างที่หดตัว และการลงทุนของการผลิตเพื่อส่งออกชะลอลงหลังจากเร่งตัวในช่วงก่อนหน้า การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง จากรายจ่ายประจำที่กลับมาหดตัว ขณะที่รายจ่ายลงทุนยังหดตัวตามการก่อสร้างให้กับท้องถิ่นและโครงการก่อสร้างระบบถนน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาอาหารสด ส่วนราคาพลังงานชะลอลง ตลาดแรงงานปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่สูงกว่าก่อนช่วงโควิด 19 ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 4/2565 คาดว่าปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคบริการและการท่องเที่ยว ประกอบกับด้านแรงงานที่ทยอยฟื้นตัว และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ยังมีปัจจัยกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกคาดว่าทรงตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

แม้สถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลงมาก แต่ ธปท. ยังคงมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีโครงการ “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” เป็นโครงการร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

มี 2 รูปแบบ คือ 1. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้แบบออนไลน์ เปิดลงทะเบียนผ่าน website ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่าน call center 1213 ได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 พฤศจิกายน 2565 2. มหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร โดยลูกหนี้ในภาคเหนือที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานในระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
นอกจากมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว ธปท. ได้มุ่งส่งเสริมให้ความรู้กับภาคธุรกิจและประชาชน

โดย ธปท. สภน. จะจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 เรื่อง “Moving beyond  the curve: ก้าวข้ามความท้าทาย สู่อนาคตเศรษฐกิจการเงินใหม่ภาคเหนือ” ในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 08.30-12.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ธปท. สภน. จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคเหนือได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงินและนโยบายของ ธปท. พร้อมทั้งรับฟังมุมมองเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ และแนวทางในการปรับธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริงเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและคว้าโอกาสจากกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลและความยั่งยืน โดยในช่วงแรกของงานสัมมนา ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรช่วงสนทนากับผู้ว่าการ “ก้าวข้ามความท้าทาย วางนโยบายสู่อนาคต” ด้วย จึงขอเชิญชวนทุกท่านรับชมการถ่ายทอดสดได้ที่ https://www.facebook.com/northtoknow

พัฒนชัย/เชียงใหม่