วางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5

กระทรวงคมนาคม จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) สานสัมพันธ์ไทย-สปป.ลาว เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งภูมิภาคอาเซียน หนุนขนส่งสินค้าและท่องเที่ยว “ศักดิ์สยาม” ชี้เพิ่มโครงข่ายเชื่อม 5 ประเทศอาเซียน คืบหน้า 60% คาดเปิดใช้ปี 2567


วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไทย และสปป.ลาว เข้าร่วมพิธี ทั้งนี้ มีนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รองผวจ.บึงกาฬ รักษาราชการแทน ผวจ.บึงกาฬ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ ประชาชน ให้การต้อนรับ


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันประเทศไทยกับสปป.ลาว มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ,สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต), สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)
“โครงการนี้จึงเป็นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ที่จะช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-สปป.ลาว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงฯ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งต่อมา ในปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และผู้แทนรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งแห่ง สปป.ลาว ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้าง ณ จ.บึงกาฬ เพื่อกำหนดขอบเขตงานก่อสร้าง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารโครงการก่อสร้างร่วมกัน”


นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการก่อสร้างของโครงการนี้ ทล. ได้ออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้ง 2 ฝั่ง ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการก่อสร้างเฉลี่ย 60% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนของทั้งสองประเทศได้ในปี 2567 ทั้งนี้ โครงการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระยะทาง 16.18 กม. วงเงิน 4,010.067 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 2,630 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 77 ล้านบาท) ฝั่ง สปป.ลาว โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 1,380.067 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท/ค่าที่ปรึกษา 44 ล้านบาท/ค่าบริหารจัดการ 15 ล้านบาท/ค่าเผื่อเหลือเผิ่อขาด 63 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.067 ล้านบาท)

ความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 แบ่งงานก่อสร้างฝั่งประเทศไทย คืบหน้าแล้ว 60% ส่วนความคืบหน้าฝั่ง สปป.ลาว คืบหน้าแล้ว 57.37% เร็วกว่าแผนที่ต้องคืบหน้า 56.33% คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในปี 2567
แนวเส้นทางประกอบด้วยโครงข่ายทางหลวงในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นที่ อ.เมือง จ.บึงกาฬ บริเวณทางหลวงหมายเลข 222 กม. 123+430 ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3217, ทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 และทางหลวงหลวงหมายเลข 212 ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ในฝั่ง สปป.ลาว เพื่อให้สอดคล้องกับโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศเวียดนาม
“โดยฝั่งไทย มี 3 สัญญา ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตอน 1 งานถนนฝั่งไทย ระหว่าง กม.0+000 – กม.9+400 ค่าก่อสร้าง 831 ล้านบาท, 2. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตอน 2 งานถนนฝั่งไทย และด่านพรมแดนฝั่งไทย ระหว่าง กม.9+400 – กม.12+082.930 ค่าก่อสร้าง 883 ล้านบาท, 3. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตอน 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930 – กม.13+032.930 ค่าก่อสร้าง 787 ล้านบาท”


ขณะที่ฝั่งสปป.ลาวแบ่งเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว ค่าก่อสร้าง379 ล้านบาท ปัจจุบันคืบหน้า43.22% เนื้องานคืองานก่อสร้างสะพานข้ามแม่นาโขง (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) 405 เมตร (แบ่งครึ่งกับฝ่ายไทยแล้ว) รูปแบบงานสะพานเป็นแบบ Extra-dosed Prestressed Concrete และโครงสร้างเชิงลาดในฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 130 เมตร วันเริ่มต้นสัญญา 4 ม.ค. 2564 วันสิ้นสุดสัญญา 3 ม.ค. 2567, สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างถนนและอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว ค่าก่อสร้าง 773 ล้านบาท ปัจจุบันคืบหน้าที่ 64.31% เนื้องานคือ 1. งานก่อสร้างถนนระยะทาง 2.86 กม. เป็นถนน 4 ช่องจราจร มีความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร จุดสลับทิศทางจราจรในฝั่ง สปป.ลาว รวมระบบงานระบายน้ำและระบบ ไฟฟ้าแสงสว่าง และ 2. งานอาคารด่านพรมแดนก่อสร้างตามมาตรฐานสากลประกอบด้วย 2 ส่วน แยกทางเข้า ออกจากกัน คือกลุ่มอาคารสาหรับตรวจผู้โดยสารและกลุ่มอาคารสำหรับตรวจสินค้า พร้อมองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร วันเริ่มต้นสัญญา 4 ม.ค. 2564 วันสิ้นสุดสัญญา 3 ก.ค. 2566


นอกจากนี้ แนวคิดในการออกแบบโครงสร้างสะพานได้มีการนำ “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น มาใช้ในการกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความสนุก รื่นเริง ความเป็นมิตรไมตรี ความคุ้นเคย และความเป็นกันเองในวัฒนธรรมของไทยและสปป.ลาว ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่าง 2 ประเทศ สร้างความเจริญทางด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) แล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งระหว่าง 2 ประเทศ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านการขนส่งสินค้า และการสัญจรของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านการขนส่งภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง