กรมทะเลและชายฝั่ง พบการระบาดโรคปะการัง บริเวณหมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จ.ชลบุรี “อธิบดี ทช.” สั่งเร่งคัดแยกปะการังส่วนที่เป็นโรคออก เพื่อหยุดยั้งการตายของปะการังเพิ่ม

กรมทะเลและชายฝั่ง พบการระบาดโรคปะการัง บริเวณหมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จ.ชลบุรี “อธิบดี ทช.” สั่งเร่งคัดแยกปะการังส่วนที่เป็นโรคออก เพื่อหยุดยั้งการตายของปะการังเพิ่ม

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่า ในห้วงวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก ดำเนินการสำรวจแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จังหวัดชลบุรี จากการสำรวจเบื้องต้นพบการระบาดของโรคแถบสีเหลือง ซึ่งโรคแถบสีเหลืองนั้นมีอัตราการลุกลาม ประมาณ 1-6 ซ.ม./สัปดาห์ ในปะการังเขากวาง และ 1 ซ.ม./เดือน ในปะการังโขด

และหากพบว่าส่วนใดของปะการังเป็นโรคแล้วนั้น ปะการังส่วนนั้นจะตาย และเพื่อเป็นการป้องกันการติดต่อลุกลามและหยุดยั้งการตายของปะการัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 1 มูลนิธิรักษ์ปะการัง โดยความอุปถัมภ์ของบริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และอาสาสมัครนักดำน้ำ ร่วมกันปฏิบัติการแยกปะการังส่วนที่เป็นโรคออกมาจากแนวปะการังเกาะขาม ซึ่งหากปล่อยเอาไว้อาจเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อแนวปะการัง ทำให้ปะการังแข็งและปะการังอ่อนได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง


นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับโรคปะการังทุกคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยโรคปะการังเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดจากความเครียดทางชีวภาพและ abiotic แต่ปัจจัยบางอย่างสามารถทำให้โรครุนแรงและทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งกระตุ้นทางชีวภาพเหล่านี้คือสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต และก่อให้เกิดความเครียดแบบ abiotic ซึ่งเป็นตัวสร้างความเครียดทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของความเค็ม และอุณหภูมิแสง เป็นต้น ส่วนสาเหตุสำคัญของการระบาดโรคปะการังนั้น มีความซับซ้อนและไม่เป็นที่เข้าใจ แม้ว่าการวิจัยชี้ให้เห็นว่าตัวการสำคัญของโรคปะการังนั้นเกิดจากภาวะโลกร้อน

แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ปะการังเกิดภาวะความเครียดนั่นก็คือ มลพิษบนบก การตกตะกอนการจับปลามากเกินไป และการใช้งานโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง ดังนั้น ตนจึงสั่งการให้นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง ของกรมทะเลและชายฝั่ง เตรียมพร้อมและวางแผนเพื่อรับมือการระบาดของโรคปะการัง พร้อมดึงเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ตลอดจนภาคีเครือข่ายจังหวัด ท้องถิ่น ภาคเอกชน และคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการระบาดของโรคปะการัง รวมถึงอธิบายขั้นตอนในการตรวจหา ประเมิน การตอบสนองต่อการระบาดโรคปะการัง การรับรู้และระบุโรคปะการัง เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม ยังพบปะการังที่เป็นโรคระบาดอยู่จำนวนค่อนข้างมากในบริเวณเกาะขามและพื้นที่หมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและเดินเรือ ประชาชนในพื้นที่ ให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากพบเจอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย”