“รมว.ทส.” สั่ง ทช. เร่งสำรวจเส้นทางคลองระบายน้ำสายหลักของกรุงเทพฯ เพื่อติดตั้งเครื่องมือดักขยะ ลดปัญหาขยะบกไหลลงสู่ทะเล

“รมว.ทส.” สั่ง ทช. เร่งสำรวจเส้นทางคลองระบายน้ำสายหลักของกรุงเทพฯ เพื่อติดตั้งเครื่องมือดักขยะ ลดปัญหาขยะบกไหลลงสู่ทะเล

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่า นางสาวชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) และนางจิรพร เจริญวัฒนาพร ผู้อำนวยการส่วนวิชาการและการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศ ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางคลองระบายน้ำสายหลักของกรุงเทพมหานคร ที่มีศักยภาพในการติดตั้งเครื่องมือดักขยะ เพื่อวางแผนปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะทะเลจากปลายทางไปสู่การจัดการขยะจากต้นทาง

ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งเป็นภารกิจภายใต้ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะให้เป็นศูนย์ ลดการเพิ่มจำนวนของขยะทะเล ภัยร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยความร่วมมือในการลงนามฯ ได้จัดขึ้นในงานวันทะเลโลก ณ หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา


นายอรรถพล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณคลองลาดพร้าว ซึ่งถือเป็นคลองขนาดใหญ่ของ กทม. ที่มีการบริหารจัดการขยะอยู่ในระดับหนึ่ง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะ กรม ทช. ได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดักขยะที่มีการใช้งานในปัจจุบัน เช่น บูมดักขยะ, SCG-DMCR Litter trap รวมไปถึงเทคโนโลยีจากโครงการความร่วมมือ The Ocean Cleanup (TOC) และนวัตกรรมในต่างประเทศ เพื่อพิจารณาขยายผลไปยังพื้นที่คลองต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ตามความเหมาะสมของพื้นที่และงบประมาณ ต่อไป
นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นสำคัญของความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมหรือภารกิจของภาครัฐ ตามหลักการของการเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) และมุ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเชิงรุกมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล ลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อ

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการร่วมกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นกลุ่มแรก 6 แห่ง ได้แก่ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน), และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา กรม ทช. ได้ระดมทรัพยากรและเร่งดำเนินการอย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักการของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น หากภาคีเครือข่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในขอบเขตที่กว้างและเข้มข้นขึ้น มากกว่าการบริจาคเงินทุนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยสามารถร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจัดหาและบริหารจัดการเครื่องมือดักขยะบริเวณปากแม่น้ำ การสนับสนุนเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม และการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชมในพื้นที่


นอกจากนี้ นายอรรถพลยังเชื่อมั่นว่า หากการดําเนินงานตามโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามกรอบระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการลดปริมาณขยะภายในประเทศ อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ซึ่งตนในฐานะอธิบดี ทช. พร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และสนับสนุนสรรพกำลัง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ ตลอดจนข้อมูลเทคนิควิชาการ องค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งประสานความร่วมมือและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม เครือข่ายภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจ และสร้างกระแสให้สังคมมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการขจัดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืนสืบไป