พิษณุโลก ม.นเรศวร วิจัยพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์เด็กชั้นอนุบาล 3 โรงเรียน เล่านิทานไทย-อังกฤษ

พิษณุโลก ม.นเรศวร วิจัยพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์เด็กชั้นอนุบาล 3 โรงเรียน เล่านิทานไทย-อังกฤษ


วันที่ 17 กันยายน 2565 ที่โรงแรมเรือนแพ รอแยล ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิด โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาล ผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ)

โดยมี ผศ.ดร.สุดากาญจน์ ปัทมดิลก หัวหน้าโครงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือครูจิตอาสาโรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (ปฐมวัยและประถมศึกษา) กล่าวรายงานว่า การเปิดทำการสอนในปีการศึกษา 2562 ในระดับชั้นอนุบาล 1 และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การขยายผลต้นแบบการสอน English for Integrated Studies (EIS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ร่วมกับโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์สื่อสารสงเคราะห์

ผศ.ดร.สุดากาญจน์ กล่าวอีกว่า คณะนักวิจัยได้ดำเนินการ (1) พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมครูและคู่มือการฝึกอบรมต้นแบบ นิเทศ กำกับ และติดตามผลการปฏิบัติงานของครูกลุ่มเป้าหมายชั้นอนุบาล 1 และ 2 ของโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง (2) ประเมินผลการใช้หลักสูตรและประเมินคู่มือการฝึกอบรม และ (3) ประเมินประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนแบบ EIS ที่เกิดกับผู้เรียน การวิจัยเป็นแบบมีส่วนร่วมหลายขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่ (2) คณะผู้วิจัยได้จัดให้มีการฝึกอบรมเทคนิคการเล่านิทานภาษาอังกฤษสำหรับครู EIS ปฐมวัย


“พบว่าหลักสูตรการฝึกอบรมการเล่านิทานภาษาอังกฤษมีความเหมาะสมดี และหนังสือนิทานมีประโยชน์มาก คณะผู้วิจัยจึงสนับสนุนให้ครูปฐมวัยร่วมมือกับภาคเอกชนที่จัดกิจกรรมเสริมทักษะภาษาอังกฤษ จัดกิจกรรมเสริมการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่เด็กชั้นอนุบาล 1 และ 2 และให้มีครู/ผู้ปกครอง/ผู้นำชุมชนจิตอาสาร่วมเล่านิทานภาษาอังกฤษแบบสองภาษาด้วย
ต่อมาในปี 2564 คณะผู้วิจัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. เพื่อดำเนินโครงการวิจัยนี้ คือ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาลผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา คือ ไทย-อังกฤษ” ผศ.ดร.สุดากาญจน์ กล่าว

ทั้งนี้ โรงเรียนร่วมพัฒนาทั้ง 3 แห่งได้จัดทำคลิปนิทานจำนวน 21 เรื่อง (1 โรงเรียน จัดทำคลิปนิทานภาษาไทย 2 เรื่อง สองภาษา 2 เรื่อง ภาษาอังกฤษ 2 เรื่อง และท้องถิ่น 1 เรื่อง) ทดลองใช้สื่อดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่าง และเก็บรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ทางคณะผู้วิจัยจึงดำเนินการจัด “การประชุมสะท้อนผลและขยายผลเพื่อพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาลผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือครูจิตอาสา” เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของลโครงการวิจัยต่อไป


โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือครูจิตอาสา มีโรงเรียนจิตอาสา 3 แห่งในเขตจังหวัดพิษณุโลก ผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนา คือ โรงเรียนบ้านกร่าง (พระขาวชัยสิทธิ์) โรงเรียนบ้านเขาสมอแคลง (ริ้วศิริวัฒน์อุปถัมภ์) และโรงเรียนวัดโบสถ์
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้จัดการประชุมปฏิบัติการจำนวน 3 หลักสูตร เพื่อจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ สร้าง/คัดเลือกสื่อสำหรับการอ่านนิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) รวมทั้งผลิตสื่อการเล่านิทานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ครู/ผู้ปกครองได้ใช้ สำหรับการเล่านิทานสำหรับเด็ก ตามนโยบายด้านการศึกษาของชาติที่ต้องการพัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ ของเด็ก เช่น ทักษะทางสมอง ทักษะความคิดความจำ ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการรู้จักและประเมินตนเอง คือ


หลักสูตรที่ 1: การพัฒนาทักษะการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ของครูปฐมวัยและผู้ปกครองจิตอาสา กรณีโรงเรียนร่วมพัฒนาในจังหวัดพิษณุโลก
หลักสูตรที่ 2: การเสริมทักษะการเล่าเรื่องภาษาอังกฤษ และความรู้เรื่องการผลิตวีดีโอสั้นเพื่อเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ให้กับเด็กอนุบาล
หลักสูตรที่ 3: การประเมินทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาลผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ)

ปรีชา นุตจัรส รายงานข่าวพิษณุโลก