ลำปาง-แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน และลำปางมาราธอน 2 อีเวนต์ใหญ่ผนึกกำลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว จ.ลำปาง

จังหวัดลำปาง ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และหอการค้าจังหวัดลำปาง จัดแถลงข่าวการแข่งขันวิ่งเฉลิมพระเกียรติฯ แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 29 และลำปางมาราธอน ประจำปี 2565 ถึงความร่วมมือในการจัดงาน และความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เปิดรับนักวิ่งกว่าหมื่นชีวิตสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว จ.ลำปาง 

ณ ลานรถม้า ศูนย์การค้าเซนทรัล ลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง จังหวัดลำปาง ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และหอการค้าจังหวัดลำปาง จัดแถลงข่าวการแข่งขันวิ่งเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 29 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 16 ตุลาคม 2565 และ ลำปางมาราธอน ในวันที่ 11 ธันวาคม 2565 ประจำปี 2565 โดยมี นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ, นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า2 ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการ, นายสกล สุพรรณบรรจง ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการ และนายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร นายกสมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย ร่วมแถลงถึงความร่วมมือในการจัดงานวิ่งทั้งสองงาน และความพร้อมในการจัดการแข่งขัน

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ กล่าวว่า จังหวัดลำปาง ได้ทำงานร่วมกับ กฟผ.แม่เมาะ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดลำปางมีของดีมากมายที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่ง อ.แม่เมาะ เป็นอีกอำเภอที่มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง อาทิ สวนพฤกษชาติ และทุ่งบัวตอง ของ กฟผ.แม่เมาะ การแข่งขันวิ่งฯ แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ได้รับความนิยมจากนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาโดยตลอด และยังเป็นการจัดการแข่งขันวิ่งที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และหารายได้สมทบทุนสำหรับดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลภายในจังหวัดลำปาง ตลอดจนเป็นการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โดยในปี 2565 นี้ นับเป็นการจัดการแข่งขันครั้งที่ 29 แล้ว ที่ผ่านมาได้จัดงานอย่างสมพระเกียรติและยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดงานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เป็นแรงขับเคลื่อน ขณะนี้คณะทำงานทุกฝ่าย ได้เตรียมความพร้อมในแต่ละด้านเป็นอย่างดี เพื่อยกระดับการแข่งขันแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนไปสู่ระดับโลก โดยยังคงความเป็นงานที่ทรงเกียรติและเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดลำปางเช่นครั้งที่ผ่านๆ มา

สำหรับหอการค้าจังหวัดลำปาง เป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาจังหวัดในทุกมิติและให้ความร่วมมืออันดีกับจังหวัดมาโดยตลอด ซึ่งแนวคิดในการจัดการแข่งขันลำปางมาราธอนนั้นเพื่อการสร้างกิจกรรมประจำของจังหวัด เพิ่มมิติด้านการท่องเที่ยวและการบริการให้หลากหลายมากขึ้น โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นจุดหมายของนักกีฬาทั้งผู้มีประสบการณ์ และนักกีฬาหน้าใหม่ รวมถึงครอบครัว ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ ​ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรด้านเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่จะสร้างฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจ จ.ลำปาง ได้ในระยะยาว ทั้งนี้ คณะทำงานร่วมทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักวิ่งทุกคน และเพื่อเป็นส่งเสริมให้กิจกรรมนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนติดตลาดอย่างแท้จริงได้ในที่สุด
ทั้งนี้ การจัดแข่งขันวิ่งทั้ง 2 งาน ถือเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีศักยภาพของจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ ในห้วงเวลาของการจัดงาน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดลำปางที่จะผันเงินไปสู่พี่น้องประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวลำปาง สร้างความประทับใจสู่นักวิ่งและนักท่องเที่ยวจนเกิดการกลับมาเยือน สู่การเป็นจุดหมายทางการท่องเที่ยวและการกีฬาที่สำคัญของประเทศต่อไป


นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า2 ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการ กล่าวว่า การแข่งขันวิ่งเฉลิมพระเกียรติฯ แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วนในจังหวัดลำปางรวมถึงประชาชนชาวลำปาง และ อ.แม่เมาะ ที่พร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักวิ่ง โดยในปี 2565 นี้ เปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม และจะปิดรับสมัครในวันที่ 15 กันยายน นี้ แบ่งประเภทการแข่งขันเป็น 3 ประเภทได้แก่ ฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร มินิมาราธอน 10 กิโลเมตร และไมโครมาราธอน 5 กิโลเมตร ซึ่งผู้ชนะเลิศฮาล์ฟมาราธอน ประเภทประชาชนชาวไทยทั่วไป จะได้รับเงินรางวัลพร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้ชนะเลิศติดต่อกัน 3 ปีซ้อน จะได้ครอบครองถ้วยพระราชทานใบจริง ในการจัดงานครั้งที่ 29 นี้ แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการจัดงานไปสู่ระดับสากล โดยการปรับเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง กติกา และการบริการในด้านต่างๆ ภายใต้มาตรฐานของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักวิ่งได้เต็มอิ่มทั้งความท้าทาย สนุกสนาน รับอากาศสดชื่นในช่วงยามเช้าของปลายฝนต้นหนาว พร้อมชมวิวเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในพื้นที่ของแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตลอดสองข้างทาง นอกจากนั้นยังได้เพลิดเพลินกับการจับจ่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬาคุณภาพดี ราคาประหยัด ตลอดจนสินค้าโอทอปขึ้นชื่อของ อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง กว่า 100 ร้าน อีกด้วย

นายสกล สุพรรณบรรจง ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการ กล่าวว่า สนามลำปางมาราธอนเน้นมาตรฐานสำหรับงานวิ่งระดับโลก ไฮไลต์ของสนามจึงเป็นเรื่องความปลอดภัยสูงสุดของนักวิ่ง ทั้งด้านการป้องกันอุบัติเหตุที่มีการปิดถนนทั้งเส้นทาง และการเตรียมการด้านการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งจะสามารถเข้าทำการรักษาเมื่อเกิดเหตุได้ภายในระยะเวลาอันสั้นตามมาตรฐาน นอกจากนั้น สภาพสนามที่มีความสมบูรณ์ของถนน แสงสว่าง และลักษณะของเส้นทางที่เป็นแนวตรง ระดับความชันสะสมน้อย ทำให้เหมาะกับการสร้างสถิติสำหรับนักวิ่งที่มีประสบการณ์ ทั้งยังเหมาะสำหรับนักวิ่งที่ลงสนามลำปางมาราธอนเป็นมาราธอนแรกของตัวเอง ซึ่งคณะกรรมการจัดงานมีความตั้งใจที่จะสอดแทรกเอกลักษณ์และกลิ่นอายความเป็นลำปางไปในทุกมิติเพื่อให้เกิดคุณค่าและประสบการณ์อันน่าประทับใจส่งมอบต่อนักวิ่งทุกคน ผ่านเสื้อ เหรียญ​ถ้วยรางวัล อาหาร การบริการและการจัดการงานในภาพรวม

ทั้งนี้ การจัดการแข่งขันวิ่งฯ แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน และลำปางมาราธอน จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดลำปางอย่างมีนัยสำคัญ การเข้ามาจับจ่ายใช้สอยของนักวิ่งและนักท่องเที่ยวจากทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ จะช่วยกระตุ้นทั้งการจ้างงาน การใช้สินค้าและบริการ ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชนได้อย่างดี อีกทั้งช่วยสร้างการรับรู้ต่อเนื่องกระจายสู่คนทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และภาคบริการของจังหวัดต่อไป

 

ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน