ครบรอบปีที่ 85 “วันเรือดำน้ำ” กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ จัดงานวันเรือดำน้ำ ประจำปี 2565

ครบรอบปีที่ 85 “วันเรือดำน้ำ” กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ จัดงานวันเรือดำน้ำ ประจำปี 2565


วันที่ 2 ก.ย.65 พลเรือเอกสมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นผู้แทนในการเป็นประธานในงาน “วันเรือดำน้ำ” ประจำปี 2565 วันที่ 4 ก.ย.65 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ ให้แก่อดีตทหารเรือที่เป็นนักดำเรือดำน้ำ และรำลึกถึงอดีตนักดำเรือดำน้ำผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนรำลึกประวัติศาสตร์การมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือ รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของเรือดำน้ำ และแนวคิดในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถเรือดำน้ำของ ทร.ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 หรือเมื่อ 85 ปีที่แล้ว เป็นวันที่สำคัญยิ่งอีกหน้าหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทย ที่กองทัพเรือได้ประกอบพิธีรับมอบเรือดำน้ำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ ณ อู่ต่อเรือ มิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ธงราชนาวีไทยได้โบกสะบัดอย่างสง่างามบนยอดเสาเรือดำน้ำ ณ บริเวณท้ายเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณเป็นครั้งแรกซึ่งนับได้ว่าเป็นเรือดำน้ำ 2 ลำแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


จากนั้น ในปี พ.ศ.2481 บริษัท มิตซูบิชิ ได้ต่อเรือดำน้ำจนครบทั้ง 4 ลำ ตามสัญญาการว่าจ้างจากกองทัพเรือเสร็จสมบูรณ์ ประกอบด้วย เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2481 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นและเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2481 ตามลำพัง โดยปราศจากเรือพี่เลี้ยงซึ่งยังความประหลาดใจแก่ชาวญี่ปุ่นรวมทั้งชาวอเมริกันเป็นอันมากเนื่องด้วยเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ การออกทะเลหลวงในยามปกติ มักมีเรือพี่เลี้ยงคอยติดตามอยู่ใกล้ๆ ในระยะปลอดภัยทั้งสิ้น นับเป็นการแสดงถึงความกล้าหาญและความสามารถของกำลังพลประจำเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ที่ได้ปรากฏแก่สายตาอารยะประเทศ นอกจากนี้ ระหว่างที่เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ประจำการมีภารกิจที่สำคัญที่ต้องจารึกไว้คือ เมื่อกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส แม้ว่าเรือหลวงธนบุรี และเรือตอร์ปิโดของไทยถูกเรือรบฝรั่งเศสยิงจมลงแต่ทว่าเรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพลก็มิได้เสียขวัญยังคงปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบอย่างสุดความสามารถ โดยได้วางกำลังลาดตระเวนอยู่บริเวณหน้าฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีน-ฝรั่งเศส

โดยในเวลากลางวันจะทำการดำอยู่ใต้น้ำ ส่วนกลางคืนแล่นลาดตระเวนบนผิวน้ำเพื่อประจุแบตเตอรี่ นับเป็นปฏิบัติการใต้น้ำเพื่อเป็นการปกป้องอธิปไตยในยามสงครามครั้งแรกของเรือดำน้ำไทยโดยภายหลัง จดหมายเหตุฝ่ายฝรั่งเศสจารึกยุทธนาวีที่เกาะช้างไว้ว่าฝรั่งเศสมีความหวั่นเกรงเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ของไทย เป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจหลีกเลี่ยงการเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยหากมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด จะเข้าพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติภารกิจ ที่ได้รับมอบในช่วงระยะเวลาอันสั้น และเมื่อปฏิบัติการแล้วเสร็จจะถอนกำลังกลับทันที เนื่องด้วยเกรงว่าจะถูกโจมตีจากเรือดำน้ำ
ในวาระที่วันเรือดำน้ำเวียนมาบรรจบครบรอบปีที่ 85 ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2565 นี้ ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และจอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้ทรงวางรากฐานกิจการเรือดำน้ำให้แก่กองทัพเรือ และพร้อมใจกันร่วมเชิดชูเกียรติประวัติ ของกำลังพลประจำเรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทยในอดีต ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยกล้าหาญ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาสละเลือดเนื้อและชีวิตให้กับกองทัพเรือและอธิปไตยของประเทศชาติ


ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางทะเล นับเป็นหลายล้านล้านบาทต่อปี และนับวันจะทวีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยการเสริมสร้างกำลังทางเรือจึงเป็นความจำเป็น เพื่อให้มีกำลังทางเรือที่สมดุลทัดเทียมกันในภูมิภาค หรือ เพื่อให้มีศักยภาพในการรบที่ใกล้เคียงกันหรือเหนือกว่า ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เสริมสร้างกำลังทางเรือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกำลังเรือดำน้ำ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของกำลังทางเรือแล้ว กองทัพเรือมีความเสียเปรียบอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ จึงจะรักษาสมดุลย์กำลังทางเรือในการรักษาความมั่นคงทางทะเลในปัจจุบันได้ โดยเรือดำน้ำ ถือเป็นเรือรบที่มีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาเรือรบด้วยกัน เป็นอาวุธที่มองไม่เห็น ตรวจจับยาก ปฏิบัติการได้ไกล และมีอำนาจการทำลายรุนแรง สามารถสร้างความยำเกรงให้กับฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังทางเรือเหนือกว่าอย่างมากได้ เรือดำน้ำจึงจะเข้ามาเสริมเติมเต็ม ให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถครบทุกมิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และ ในอากาศ ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติอย่างมั่นคงสืบไป

 

ภาพข่าว สมนึก เชื้อสนุก