ฉะเชิงเทรา-เลขาฯ สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จ.ปทุมธานี และ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมสั่งหน่วยงานปรับอัตราการระบายน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพิ่มพื้นที่รองรับน้ำโดยไม่กระทบประชาชน

ฉะเชิงเทรา-เลขาฯ สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จ.ปทุมธานี และ
จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมสั่งหน่วยงานปรับอัตราการระบายน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพิ่มพื้นที่รองรับน้ำโดยไม่กระทบประชาชน

 

วันนี้ (24 ส.ค. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ณ สถานีสูบน้ำกลางคลองหกวา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ต.พืชอุดม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และสถานีสูบน้ำบางขนาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โดยการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง


ฝั่งตะวันออก ที่รับน้ำผ่านคลองชัยนาท – ป่าสัก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 50 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยได้ใช้คลองรังสิตประยูรศักดิ์ในการกระจายน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกแม่น้ำบางปะกงสู่อ่าวไทยโดยเร็ว นอกจากนี้ กอนช. ได้ติดตามปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า ปัจจุบันมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลง โดยมีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เพียง 2 จุด ได้แก่ คลองโผงเผง (สถานี C.36)อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.53 ม. แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว และแม่น้ำน้อย (สถานี C.67) อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.49 ม. แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว


“ระยะนี้สถานการณ์ภาพรวมของประเทศจะมีแนวโน้มฝนตกลดลง แต่บางจุดยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ โดยจากการประเมินสภาพฝน พบว่าฝนจะกลับมาตกเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 25 – 27 ส.ค. 65 และลดลงอีกครั้งในช่วงวันที่ 28-29 ส.ค. 65 ซึ่งจะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าแนวโน้มพายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ทั้งนี้ กอนช. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำไว้ล่วงหน้า โดยต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน และมอบหมายให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีการระบายน้ำในอัตรา 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที

สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะนี้มีการปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได จาก 15-25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จนถึงวันที่ 27 ส.ค. 65เขื่อนป่าสักฯ ปรับการระบายเป็น 500 ลบ.ม.ต่อวินาที จนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยปัจจุบันลุ่มน้ำป่าสักตอนบนระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ซึ่งมวลน้ำหลากนี้จะไหลลงเขื่อนป่าสักฯ และบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างท้ายเขื่อนป่าสักฯระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง โดยปัจจุบันได้มีการเร่งดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว” ดร.สุรสีห์ กล่าว


ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งมีแนวโน้มของปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และป้องกันให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนน้อยที่สุด พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ สทนช. ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมโดยใช้แผนที่ GISTDA และให้ สทนช. ภาค 1-4 ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ควบคู่กันไปด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำสูงสุดในการแจ้งเตือนประชาชน โดยการดำเนินงานของ กอนช. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีการประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันศุกร์นี้
(26 ส.ค. 65) พลเอก ประวิตร จะเป็นประธานการประชุม กอนช. เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ผลการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหลังเกิดอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำปัจจุบันและคาดการณ์ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. นี้” ดร.สุรสีห์ กล่าว

สัมฤทธิ์ ล้ำเลิศ/ฉะเชิงเทรา
086-8331848