เชียงใหม่-“งานมหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’65 ส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิต”

เชียงใหม่-“งานมหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’65 ส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิต”

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.00 น. สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จัดงานส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิต ”มหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้”ประจำปี 2565 โดยมีนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน ณ มีโชคพลาซ่า อำเภอเมือง เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักถึงประเด็นนี้ จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบการเกษตรและพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคง ในรูปแบบของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้แก่ การขับเคลื่อนตามนโยบายส่งเสริมการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ การผลักดันเกษตรกรให้สามารถดำเนินงานการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำตามนโยบายตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ จัดทำข้อตกลงร่วมกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร รวมถึงการจัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ ดังเช่นการจัดงานการจัดงานส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิต “มหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’65” เพื่อประชาสัมพันธ์การบริโกคผลไม้อัตลักษณ์ ภาคใต้รสชาติดี คุณภาพเยี่ยม ปลอดภัยได้ มาตรฐาน

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่าในนามของผู้จัดและเกษตรกรผู้ร่วมงานส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิต “มหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’65” ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานในวันนี้ พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตผลไม้เขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต มีสายพันธุ์ไม้ผลที่ดี ตลอดจนเกษตรกรมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี รสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปี 2565 ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง รวม 1,108,655 ไร่ ผลผลิตรวม 496,010 ตัน

ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตตามฤดูกาลได้ออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ถึงแม้ว่าในปีนี้สภาพอากาศจะมีผลกระทบ ทำให้ผลผลิตมีน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา แต่การบริหารจัดการไม้ผลเศรษฐกิจของภาคใต้ ยังสามารถกระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านผู้ประกอบการเอกชน (ล้ง) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด รถเร่ และการจัดงานประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายของแต่ละจังหวัด สำหรับผลผลิตบางส่วนได้มีการพัฒนาและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยวิธีแช่แข็ง อบแห้ง กวน และทอด

ประกอบกับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผลท้องถิ่นสู่มาตรฐานการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจหรือโครงการไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยนำไม้ผลอัตลักษณ์ที่สำคัญในท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดในภาคใต้ มาส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจทั้งส่งเสริมการปลูก ดูแลรักษาและเพิ่มมูลค่าด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการเข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : Gl) ต่อไป

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะไม้ผลให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ กำหนดจัดงานส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิต “มหกรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’65” ในระหว่างวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์การค้า
มีโชคพลาซ่า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ในพื้นที่ ภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำผลไม้คุณภาพดี รสชาติอร่อยมาร่วมประชาสัมพันธ์และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การจำหน่ายผลผลิตสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ จากเกษตรกร 14 จังหวัดภาคใต้ รวม 30 บูธ ไม่ ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ จำปาดะ และผลไม้อื่นๆอีกมากมาย และกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การแข่งขันกินผลไม้ การจำหน่ายสินค้านาทีทอง

นภาพร/เชียงใหม่