กาฬสินธุ์-จัดตั้งกลุ่มทำธุงต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างรายได้หลังโควิด

ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดอบรมและตั้งกลุ่มอาชีพทำธุง “ธุงมงคล” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ท่องเที่ยวอำเภอสหัสขันธ์


วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสุรพล มิ่งชัย ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.กาฬสินธุ์ กิจกรรมส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีพระครูสิริพัฒนนิเทศก์ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ เจ้าอาวาสวัดพุทธาวาสภูสิงห์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ นางสาวสิริน โคตรธนู นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.กาฬสินธุ์ นางศุภวรรณ พงษ์นุ่มกุล พัฒนาการอำเภอสหัสขันธ์ นางสาวกฤษณา อิงเอนุ ประมงอำเภอสหัสขันธ์ นายไสว สิมคร เกษตรอำเภอสหัสขันธ์ และคณะกรรมการชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก อ.สหัสขันธ์ ร่วมเปิดกิจกรรม “ธุงมงคล” ซึ่งนายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี ได้สนับสนุนสถานที่ในการจัดอบรม มีนางสุมีนา ภู่ประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 และนางแจ่มจรัส สุทธิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นวิทยากร โดยมีชาวบ้านจากคุ้มวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) และคุ้มวัดพุทธาวาส ภูสิงห์ จำนวน 30 คน ร่วมกิจกรรม


นายสุรพล มิ่งชัย ผอ.สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง กระแสการท่องเที่ยวกำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง พื้นที่เป้าหมายอำเภอสหัสขันธ์ เป็นจุดหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี และมีจำนวนมาก จากสถิติในปี 2561 – 2563 พบว่ามีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 150,000 – 320,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้จากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ห้วงเวลาเทศกาลสงกรานต์พบว่า อำเภอสหัสขันธ์ มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยว พักนอน 81,236 คน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น ในการต่อยอดในการสร้างรายได้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้สนับสนุนให้ชุมชนได้รวมกลุ่มเพื่อทำผลิตภัณฑ์ งานมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งได้นำเอา “ธุง” มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว โดยได้รับความเมตตาจากพระครูสิริพัฒนนิเทศก์ ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “ธุงมงคล” และรับซื้อธุงงานฝีมือชาวบ้านไปวางจำหน่ายที่วัด ซึ่งจัดนำร่องไว้ 2 แห่ง คือ วัดพุทธาวาสภูสิงห์ และวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) โดยคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาร่วมทำกิจกรรมถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อสิริมงคลแก่ชีวิต


นางสุมีณา ภู่ประดิษฐ์ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า ธุงอีสาน มี 6 ประเภท ประกอบด้วยธุงราว ธุงไชย ธุงสิบสองราศี ธุงเจดีย์ทราย ธุงไส้หมู และธุงใยแมงมุม โดยทางภาคอีสานนิยมทำธุงใยแมงมุม มีทั้งรูปทรง สามเหลี่ยม สี่เหลือ และธุงแปดเหลี่ยม ต่อมาได้พัฒนาให้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบ และสีสัน ซึ่งแบบที่ทำของกิจกรรม “ธุงมงคล” จะเป็นลายประดิษฐ์สร้างสรรค์ 8 แฉก รูปดอกไม้ โดยใช้วัสดุหาง่าย หาซื้อได้ตามท้องตลาด ราคาไม่แพง ซึ่งธุงหากทำเป็นอาชีพยังมีออเดอร์ทางออนไลน์รับอยู่ตลอด ทุก ๆ คน สามารถออกแบบลายและรูปแบบให้น่าสนใจ เพื่อเป็นช่องทางการขายในอนาคต ในส่วนตัวมีรายได้จากการทำธุงจำหน่ายทางออนไลน์ช่วงโควิด และได้พัฒนาลวดลาย รูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “ธุง” นอกจากความสวยงามยังสื่อความหมายตามคติอีสานปกป้องคุ้มภัย เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมในงานบุญ งานบวงสรวงเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นของประดับตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ และของที่ระลึกอีกด้วย