กาฬสินธุ์-เติมองค์ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดินหล่อเลี้ยงข้าวอินทรีย์ GI เขาวง

จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ อบรมเชิงปฏิบัติการโครงการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน พร้อมเติมองค์ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน หล่อเลี้ยงข้าวอินทรีย์ระดับ GI


ที่หอประชุมอำเภอเขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ และกิจการพิเศษของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565 โดยมีนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) กาฬสินธุ์ นายประจัน ดาวังปา ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ นายคงคา ชื่นจิตร นายอำเภอเขาวง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ทสจ. และเครือข่ายเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวเขาวงจำนน 500 คน ร่วมโครงการ


นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ดังกล่าว มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรกรปลูกข้าวเขาวง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ข้าวเขาวงระดับ GI ของ จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริในที่ดินทำกินให้เป็นป่าครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสมดุลของระบบนิเวศและเป็นแหล่งอาหาร ให้เกษตรกรมีต้นไม้ไว้เป็นทรัพย์และภูมิคุ้มกันของครอบครัวในอนาคต ซึ่งเครือข่ายเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม จะได้นำทักษะ ความรู้ประสบการณที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายผลสู่ชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้การประกอบอาชีพ เกิดรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน ต่อไป


ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ยังเป็นการเสริมองค์ความรู้แก่เกษตรกรคนปลูกข้าวเขาวง ในพื้นที่ใช้น้ำลำพะยังตอนบน เขต อ.เขาวงหลายตำบล รวมทั้ง ต.หนองห้าง ต.นาโก อ.กุฉินารายณ์, ต.บ่อแก้ว อ.นาคู เนื้อที่ประมาณ 1 แสนไร่ นำไปปรับใช้ในการทำนาและการดำเนินชีวิตได้หลายหลากรูปแบบ โดยมีการจัดฐานเรียนรู้ 5 ฐาน ประกอบด้วยฐานที่ 1 การดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน, ฐานที่ 2 ไม้มีค่าป่าครอบครัว สร้างป่าสร้างรายได้, ฐานที่ 3 นวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน, ฐานที่ 4 การจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือน และฐานที่ 5 แนวทางการปลูกเสริมไม้มีค่าในสวนยางพารา ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายมีเครือข่ายเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวเขาวงจำนน 500 คน ร่วมโครงการ


อย่างไรก็ตาม ข้าวเขาวง ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีและได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical indication : GI) โดยมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยในการปลูกข้าวเขาวงคุณภาพสูง แต่ปัจจัยที่สำคัญในการผลิตข้าวเขาวงให้มีคุณภาพนั้นคือแหล่งน้ำ สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ ยังได้จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย พร้อมส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวง ซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ และการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน