กาฬสินธุ์ รับฤดูฝนปลูกป่าเพิ่มแหล่งอาหารชุมชนเฉลิมพระเกียรติ

เทศบาลตำบลคำเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับผู้นำชุมชน ชาวบ้าน จัดโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษาแผ่นดิน พร้อมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินไทย” สืบสานสู่ 100 ล้านต้น


เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่บริเวณป่าชุมชนหนองโสกแดง บ้านป่าหวาย ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) คำเหมือดแก้ว เป็นประธานโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษาแผ่นดิน ภายใต้วันต้นไม้ประจำชาติ และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินไทย” สืบสานสู่ 100 ล้านต้น โดยมีนายบพิตร งอมสระคู กำนัน ต.คำเหมือดแก้ว พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านทุกหมู่บ้านใน ต.คำเหมือดแก้ว ร่วมโครงการ


นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายก ทต.คำเหมือดแก้ว กล่าวว่าตามที่คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้วันวิสาขบูชาของทุกปีเป็นวันต้นไม้ประจำชาติ กรมป่าไม้ได้เชิญชวนกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในสังกัด จัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติตามวันที่เห็นสมควร เทศบาลตำบลคำเหมือดแก้ว จึงได้กำหนดวันปลูกต้นไม้ตามโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษาแผ่นดิน ประจำปี 2565 ภายใต้วันต้นไม้ประจำชาติ และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินไทย” สืบสานสู่ 100 ล้านต้นในวันนี้


นายพิบูรณ์กล่าวอีกว่าโครงการดังกล่าว แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกกำหนดปลูกต้นไม้ที่บริเวณหนองโสกแดง บ้านป่าหวาย และช่วงที่ 2 จะดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2565 ที่บริเวณป่าหนองบก บ้านป่ากุง โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้จากศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้มหาสารคาม จำนวน 1,000 ต้น ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินไทย” สืบสานสู่ 100 ล้านต้น และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา นอกจากนี้ยังเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เยาวชน ประชาชนรู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ ลดภาวะโลกร้อน และเป็นแหล่งอาหารชุมชนในฤดูฝนอีกด้วย