กาฬสินธุ์-สุดทึ่งหนึ่งเดียวในโลกตะไลสิบล้านน้ำหนัก 2 ตันพุ่งทะลุฟ้าบูชาพญาแถน

บรรยากาศจุดบั้งไฟยักษ์ “ตะไลสิบล้าน” น้ำหนักกว่า 2 ตัน ในงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน หนึ่งเดียวในโลกที่ตำบลกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เนืองแน่นไปด้วยประชาชน นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศกว่า 3 หมื่นคน ที่เดินทางมาเที่ยวชมตลอดวัน สุดทึ่งในความยิ่งใหญ่อลังการ ขณะตะไลสิบล้านควงสว่านทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงลิบลับ ไม่ต่างกับกระสวยอวกาศ ก่อนจะกางร่มชูชีพร่อนลงมาอย่างสวยงามน่าอัศจรรย์

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณกลางทุ่งหลังวัดกกต้อง ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกำหนดเป็นฐานจุดบั้งไฟตะไล ในงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านประจำปี 2565 พบว่ามีประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่า 3 หมื่นคนร่วมงาน ภายใต้มาตรการป้องกันคิด-19 ทั้งนี้ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้มอบหมายนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีจุดบั้งไฟ โดยมีนายวีรดนย์ ศิริ นายอำเภอกุฉินารายณ์ พ.ต.อ.บัณฑิต สิงประชา ผกก.สภ.กุฉินารายณ์ นายแสวง อุทรักษ์ นายก ทต.กุดหว้า และคณะกรรมการจัดงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายรักษาความปลอดภัย ต้อนรับและดูแลความเรียบร้อยภายในงาน


นายแสวง อุทรักษ์ นายก ทต.กุดหว้า กล่าวว่างานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน ประจำปี 2565 เป็นงานบุญประเพณีที่จัดขึ้นตามฮีต 12 คอง 14 เพื่อบูชาและขอฝนกับพญาแถน ก่อนที่จะถึงฤดูกาลทำนาตามความเชื่อของชาวอีสาน ซึ่งไฮไลต์ของงาน อยู่ที่การลุ้นอย่างระทึกว่าบั้งไฟตะไลแสนตะไลล้าน ที่ช่างจากชุมชนต่างๆใน ต.กุดหว้าประดิษฐ์ขึ้นจากภูมิปัญญา นำมาจุดประชันความสูงและเพื่อบูชาพญาแถนนั้น จะมีบั้งไหนเกิดความผิดพลาดหรือไม่ หรือจะทะยานขึ้นท้องฟ้าสวยงาม หรือขึ้นสูงแค่ไหนเพียงใด ซึ่งได้เริ่มจุดตั้งแต่เวลา 08.00 น.ของวันนี้ โดยมีบั้งไฟตะไลแสน ถูกลำเลียงขึ้นฐานจุดแข่งขัน จำนวน 52 บั้ง, บั้งไฟตะไล 2 ล้านจำนวน 2 บั้ง และบั้งไฟตะไล 10 ล้านจำนวน 1 บั้ง


“ความโดดเด่นของบั้งไฟของชาว ต.กุดหว้า จะแตกต่างจากพื้นที่อื่นของอีสาน เพราะตามปกติบั้งไฟจะทำเป็นรูปทรงกระบอก ซึ่งเรียกว่าบั้งไฟหาง จุดชนวนดินปืนตรงส่วนท้ายเพื่อให้บั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่บั้งไฟตะไลของชาว ต.กุดหว้า จะเป็นทรงวงกลมคล้ายล้อเกวียน ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าให้แบน เรียกว่า “กง” ซึ่งมีหน้าที่บังคับบั้งไฟ จุดชนวนจากกลางลำ โดยจะเจาะรูเชื้อเพลิงให้ออกด้านข้างลำตัวของบั้งไฟ ทำให้บั้งไฟหมุนในลักษณะเป็นเกลียว หรือเหมือนควงสว่าน จากช้าแล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นท้องฟ้าในแนวตรง พอหมดเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนก็จะกางร่มชูชีพร่อนลงมาอย่างสวยงาม ด้วยความพิเศษของบั้งไฟตะไลล้านกุดหว้า ยังมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมาชื่นชม ทึ่งในภูมิปัญญาชาวภูไทกุดหว้า และดูขบวนการประดิษฐ์บั้งไฟ พร้อมขอสูตรไปผลิตบั้งไฟตะไลที่ต่างประเทศอีกด้วย” นายแสวงกล่าว


ทั้งนี้ บั้งไฟตะไลแสน มีขนาดปากกระบอกกว้าง 4 นิ้ว ยาว 3 เมตร น้ำหนัก 250 กิโลกรัม, บั้งไฟตะไลล้าน ขนาดปากกระบอกกว้าง 5 นิ้วครึ่ง ยาว 6 เมตร น้ำหนัก 750 กิโลกรัม, บั้งไฟตะไลสองล้าน ขนาดปากกระบอกกว้าง 6 นิ้วครึ่ง ยาว 6 เมตร น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม และบั้งไฟตะไลสิบล้าน ขนาดปากกระบอกกว้าง 8 นิ้วครึ่ง ยาว 6 เมตร น้ำหนัก 2,000 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ด้วยนวัตกรรรมจากภูมิปัญญาที่มีการพัฒนาตามยุคสมัย ถึงแม้จะบั้งไฟตะไลแต่ละขนาดจะมีน้ำหนักมาก แต่ก็สามารถเหิรทะยานขึ้นท้องฟ้าได้สูงลิบลิ่ว และกางร่มชูชีพร่อนลงมาอย่างสวยงามและปลอดภัย


อย่างไรก็ตาม สำหรับบรรยากาศในการจุดบั้งไฟตลอดวันนี้ ทั้งบั้งไฟตะไลแสน บั้งไฟตะไลล้าน และไฮไลต์ในงานคือบั้งไฟตะไลสิบล้าน ซึ่งกำหนดจุดในเวลา 16.00 น.นั้น เป็นไปอย่างคึกคัก ตื่นเต้น เร้าใจ น่าทึ่ง อัศจรรย์ใจ ซึ่งทุกบั้งหมุนตัวเหมือนเกลียว มีลักษณะเหมือนควงสว่านขึ้นสู้ท้องฟ้าสูงลิบลิ่วจนผู้ชมต้องแหงนคอตั้งบ่า ก่อนที่บั้งไฟที่หมดเชื้อเพลิงจะกางร่มชูชีพร่อนลงมาช้าๆอย่างสวยงามและปลอดภัย ท่ามกลางเสียงปรบมือและเสียงโห่ร้องด้วยความชื่นชมของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งทุกคนต่างบันทึกภาพ และแชร์ในโลกโซเชียล พร้อมเก็บความประทับใจกลับไป และสัญญาว่าจะกลับมาเที่ยวงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านอีกอย่างแน่นอนในปีหน้า