สุรินทร์-หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ พระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกรุณาเสด็จบำเพ็ญกุศลส่วนพระองค์ ณ วัดจำปาสะเอิง ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม

สุรินทร์-หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ พระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกรุณาเสด็จบำเพ็ญกุศลส่วนพระองค์ ณ วัดจำปาสะเอิง ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม

วันนี้ (8 พฤษภาคม 2565) เวลา 10.00 น. หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ พระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกรุณาเสด็จบำเพ็ญกุศลส่วนพระองค์ ณ วัดจำปาสะเอิง ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายรองรัตน์ จงอุตส่าห์ นายอำเภอท่าตูม นายประสงค์ ทองประ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรท่าตูม นายก อบต.โพนครก กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ตำบลโพนครก ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผอ.รพ.ในพื้นที่และพุทธศาสนิกชนร่วมสมทบทำบุญถวายจตุปัจจัยสร้างวิหารหลวงพระพุทธจักพรรดิ์ ทรงกล่าวถวายผ้าป่าบังสุกุล แล้วทรงกรุณาประทานให้ นายอำเภอท่าตูมเชิญพาดยังต้นผ้าป่า

โดยมี พระครูปลัดสุธิเมธี ปิยสีโล เจ้าอาวาสวัดจำปาสะเอิง พิจารณาผ้าป่าบังสุกุล เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุนทร์ ขอประทานอนุญาตเบิกผู้ร่วมทำบุญถวายเงินในการนี้ เมื่อเบิกผู้ร่วมทำบุญถวายเงินครบแล้ว ทรงกรุณาให้นายอำเภอท่าตูม เชิญเงินทั้งหมดประเคนถวายแด่ พระครูปลัดสุธิเมธี ปิยสีโล เจ้าอาวาสวัดจำปาสะเอิง จากนั้นเจ้าหน้าที่ฯ ขอประทานอนุญาต เบิกผู้ทำคุณประโยชน์แด่วัดจำปาสะเอิง เข้ารับมอบประทานเหรียญพระประจำองค์ จำนวน 50 คน และชาวบ้านผู้นำของพื้นเมืองเข้าถวายของที่ระลึก ตามลำดับ ทรงทอดเนตรชมนางรำถวายต่อหน้าพระพักตร์ในชุดนาคบารมี ตรีชาติพันธุ์ ทรงกรุณาให้ร่วมฉายพระรูป เสร็จแล้วเสด็จกลับโดยรถยนต์ที่นั่ง


นายยุทธพงษ์ เอี้ยงอ้าย เลขานุการในองค์หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ กล่าวประวัติวัดจำปาสะเอิง ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๕ ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ สืบเนื่องเมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีก่อน ดินแดนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้พืชพันธุ์ และเป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะสมสำหรับการทำการเกษตร ประกอบกับมีบึงน้ำกุดมะโนเป็นแหล่งน้ำสาขาใหญ่ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของอีสานใต้ ความสมบูรณ์ของผืนดินและแหล่งน้ำเหมาะแก่การบริโภคอุปโภค ทำให้มีคนสามกลุ่มเข้ามาจับจองพื้นที่อยู่อาศัย สร้างบ้านเรือน และทำมาหากิน ประกอบด้วย

กลุ่มแรก นำโดยหลวงอุดม ไตรโสม อพยพจากอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ผู้สืบเชื้อสายเขมร

กลุ่มที่สอง นำโดยพระอธิการสุภา อพยพจากอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด สืบเชื้อสายจากลาว

กลุ่มที่สาม นำโดยพ่อพัด หมื่นฤทธิ์ อพยพมาจาก อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ผู้สืบเชื้อสายลาว

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระอธิการสุภา หลวงอุดม ไตรโสม และพ่อพัด หมื่นฤทธิ์ ได้ร่วมกันสร้างวัดจำปาสะเอิง และได้ร่วมกันก่อสร้างอุโบสถขึ้น โดยนำเอาดินแถบทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เรียกว่า ขี้นกอินทรีย์ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีส่วนผสมของเปลือกหอยทะเลด้วย นำมาตำผสมกับดินในพื้นที่บ้านสะเอิง ทำเป็นอิฐดินเผา เพื่อเป็นเครื่องก่ออุโบสถ

เมื่อครั้งที่เริ่มสร้างวัด มีเนื้อที่ ๑๒ ไร่ และปัจจุบันได้ขยายเนื้อที่เพิ่มอีก ๑๓ ไร่ รวมเป็นเนื้อที่ ๒๕ ไร่ โดยการดำเนินการของ พระครูปลัดสุธิเมธี ปิยสีโล (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) และด้วยศรัทธาของชาวบ้านในหมู่บ้านและประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสร้างเสนาสนะภายในวัดเพิ่มเติมจากเดิมดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน

หมู่บ้านสะเอิงเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยร่วมกันของชาวเขมร ลาว ส่วย จะเห็นได้ว่าหมู่บ้านนี้มีทั้ง คุ้มเขมร คุ้มลาว อยู่ร่วมกัน คำว่า จำปา แปลว่า ดอกจำปา ได้รับอิทธิพลมาจากชนพื้นเมืองลาว ส่วนคำว่า สะเอิง สันนิษฐานได้สองอย่าง คือ อย่างแรก สะเอิง เป็นภาษาส่วย แปลว่า ครก (ตำข้าว) อย่างที่สอง คือ สระอิเลิง เป็นท่าน้ำเก่า ซึ่งเคยเป็นจุดทำมาค้าขายทางเรือของชุมชนในสมัยก่อน (ปัจจุบันมีหลักฐานของเครื่องเคลือบดินเผาที่แตกและผุพังอยู่ตามริมแม่น้ำ ผู้เขียนให้ข้อมูลในสมัยยังเป็นเด็กก็เคยเห็น) มีเรือค้าขายสินค้าของพ่อค้าคนจีนมาจอดเทียบท่าเรือในฤดูน้ำหลากที่ท่าน้ำสระอิเลิง ในกาลต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น สระเอิง และ สะเอิง ในที่สุด ซึ่งอยู่ในลำน้ำกุดมะโนที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ดังนั้น การตั้งชื่อหมู่บ้านและชื่อของวัดจึงเป็นการเอาชื่อของชุมชนมารวมกันจนกลายเป็นชื่อในปัจจุบัน

เดิมบ้านสะเอิงเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ปัจจุบันมีการขยายตัวของครัวเรือนเพิ่มขึ้น จึงมีการแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านสมสะอาด บ้านหนองเรือ และบ้านสะเอิง

รายนามเจ้าอาวาส ดังนี้

๑. พระอธิการสุภา ธมฺโชติ

๒. พระอธิการสุข

๓. พระอธิการจันทร์ ปุสเทโว

๔. พระครูธีระคุณากรณ์ (อดีตเจ้าคณะตำบลโพนครก)

๕. พระครูประโชติวุฒิคุณ (อดีตเจ้าคณะอำภอท่าตูม)

๖. พระอธิการสุวรรณ สุวณฺโณ

๗. พระครูปลัดสุธิเมธี ปิยสีโล (ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)