วธ.รณรงค์หน่วยงานรัฐ เอกชน วัดและประชาชนจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณี ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม”

วธ.รณรงค์หน่วยงานรัฐ เอกชน วัดและประชาชนจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณี ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม”


เชิญชวน แต่งผ้าไทย สืบสานอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ แนะประชาชน-ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ ตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สู่สังคม-ผู้สูงอายุในครอบครัว
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ออกประกาศแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2565 ภายใต้แนวคิด“ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” ซึ่งแนวทางและมาตรการรณรงค์ดังกล่าว วธ. ได้ดำเนินการให้สอดรับกับมาตรการกลางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เห็นชอบแล้ว โดยการรณรงค์ เรื่อง “สงกรานต์วิถีใหม่” นั้น วธ.ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆและประชาชนจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์แบบวิถีใหม่ (New Normal) เน้นเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ สืบสานประเพณีสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมที่ดีงาม และดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ให้สอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2565 ของศบค.ชุดใหญ่ และมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ การทำบุญที่วัด สรงน้ำพระพุทธรูป ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด พระสงฆ์ บุคลากรในวัดและประชาชนที่ไปทำบุญต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์และปฏิบัติตาม “COVID Free Setting (CFS)” อย่างเคร่งครัด โดยการสรงน้ำพระพุทธรูปขอให้เตรียมอุปกรณ์ของแต่ละคนมาเอง ห้ามนำน้ำที่สรงมาใช้ต่อ หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ และของใช้ร่วมกันให้มีเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดก่อนและหลังหยิบจับ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร ตลอดการจัดงาน โดยเฉพาะช่วงสรงน้ำพระพุทธรูป ถวายดอกไม้ธูปเทียน ฟังเทศน์และทำบุญตักบาตร กรณีสรงน้ำพระสงฆ์และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ให้ปฏิบัติตามมาตรการของสธ.อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ การร่วมกิจกรรมในครอบครัว เช่น กราบไหว้ขอพรพ่อแม่ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ ทุกคน ในครอบครัวต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวและสมาชิกครอบครัวควรตรวจ ATK ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าร่วมกิจกรรมหรือไปเยี่ยมผู้สูงอายุ และกรณีผู้ที่มาจากต่างพื้นที่ ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อต้องใกล้ชิดผู้สูงอายุ และจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ งดกิจกรรมสัมผัสหรือใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกันหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมสังสรรค์และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน


นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนการจัดกิจกรรมและเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลประเพณีสงกรานต์นั้น ขอความร่วมมือองค์กร หน่วยงานต่างๆจัดกิจกรรมที่สามารถทำได้ ได้แก่ การละเล่นที่สามารถจัดได้ตามมาตรการผ่อนปรนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ การเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ จัดงานที่มีการควบคุม การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงมหรสพ ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ตลอดจนการเปิดร้านอาหารให้ปฏิบัติตามมาตรการ CFS และมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด ส่วนกิจกรรมที่ให้งด ได้แก่ การเล่นสาดน้ำในที่สาธารณะ เช่น บนท้องถนน การประแป้ง ปาร์ตี้โฟมหรือกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิด ขณะเดียวกันขอความร่วมมือองค์กร หน่วยงานที่เป็นผู้จัดกิจกรรมให้จัดกิจกรรมเทศกาลประเพณีสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งงดจำหน่ายและงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
นอกจากนี้ การจัดงานเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ขอให้จัดงานที่โล่ง และควบคุมไม่ให้แออัดในพื้นที่จัดงานไม่เกิน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร จัดให้มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ และผู้เข้าร่วมงานจัดเตรียมอุปกรณ์ส่วนตัว เช่น ขันน้ำ เจลแอลกอฮอล์ อีกทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ไมโครโฟน ทุกครั้งหลังใช้งาน งดการแสดงมหรสพที่มีฉากที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดและเข้าถึงตัวกัน เช่น ฉากแสดงความรัก โอบกอด หอม ตะโกน และงดสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ชม ตลอดจนเว้นระยะห่างระหว่าง เวทีและผู้ชมอย่างน้อย 2 เมตรและเว้นระยะห่างระหว่างนักดนตรีหรือนักแสดงบนเวที 1 เมตร ส่วนกิจกรรม ที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ การเต้นรำ ตะโกนคุยกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า สำหรับการรณรงค์ “สืบสานวัฒนธรรมไทย” วธ.ขอความร่วมมือองค์กร หน่วยงานต่างๆจัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม รวมทั้งสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรมการละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2565 ของศบค.ชุดใหญ่ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของกรมอนามัย อีกทั้งขอเชิญชวนประชาชนแต่งกายชุดสุภาพด้วยผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองหรือชุดไทยย้อนยุคเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์เพื่อร่วมสืบสานคุณค่าและสาระอันดีงามของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถาน สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ เป็นต้น
ทั้งนี้ วธ.โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้แจ้งประกาศแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2565 ไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ทั่วประเทศ พร้อมทั้งมอบหมายศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประสานและร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนคุณธรรมฯ และเครือข่ายทางวัฒนธรรมร่วมกันรณรงค์ และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในการจัดกิจกรรมงานประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามประเพณีนิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุเพื่อสร้างความปลอดภัยต้อนรับลูกหลานกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยประชาชนติดต่อสอบถามและแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765

//////
ผศ.ดร.พิมพาภรณ์ วงศ์เตชะนนท์ รายงาน