กาฬสินธุ์มอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาด้านการเกษตร

จังหวัดกาฬสินธุ์ รับมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรในพื้นที่ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด พร้อมชูนวัตกรรมเพื่อนำการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 


วันที่ 26 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น. ที่อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนนาเชือกวิทยาคม ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ร่วมเป็นเกียรติและรับมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร ในพิธีการส่งมอบเทคโนโลยีและติดตามกิจกรรมการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีนางเพ็ญศรี แสงดารา ปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ศ.ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน และประชาชน ร่วมในพิธี


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ส่งมอบในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณวิจัย เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่เห็นเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอก หมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อน ปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้ หรือสามารถเรียกสั้นๆ ได้ว่า เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน เป็นผลงานของหน่วยวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการกิจกรรมการจัดการความรู้และขยายผลเทคโนโลยี ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการขยายผลการใช้งานแล้วมากกว่า 30 พื้นที่ทั่วประเทศ


นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้ทราบว่าสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นผลงานที่สร้างขึ้นโดยฝีมือนักวิจัยคนไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนางาน ด้านเกษตรกรรมของ จ.กาฬสินธุ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพ ในภาคการผลิตให้กับกลุ่มเป้าหมาย คือโรงเรียนนาเชือกวิทยาคม รวมถึงเครือข่ายโรงเรียนในสังกัดอบจ.กาฬสินธุ์ และเกษตรกรผู้สนใจ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล


ทั้งนี้ โรงเรียนนาเชือกวิทยาคม เป็นโรงเรียนในสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์ มีบริบทแวดล้อมด้วยชุมชนเกษตรกรรม และมีศักยภาพในด้านการเกษตร โดยโรงเรียนนาเชือกวิทยาคมได้เป็นตัวแทนในการส่งนวัตกรรมโครงการพัฒนาหลักสูตรชีววิถีโดยใช้โมเดล 5 H เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ในการคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการบริหารจัดการที่ดีประเภทโดดเด่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ดังจะเห็นได้จากกิจกรรม Open house เปิดบ้านนาเชือก และการจัด นิทรรศการโครงการพัฒนาหลักสูตรชีววิถีโดยใช้โมเดล 5 H เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ของโรงเรียนนาเชือกวิทยาคม ร่วมกับเครือข่ายองค์ความรู้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกร และชุมชน ในการขยายความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ทั้งนี้โรงเรียนนาเชือกวิทยาคม ในฐานะตัวแทนของพี่น้องชาว จ.กาฬสินธุ์ จะสามารถใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและคณะนักวิจัย ได้มอบให้ในวันนี้ได้อย่างคุ้มค่า ตลอดจนทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดจากความสามารถของนักวิจัยไทยดังกล่าว ให้เป็นที่รู้จักแก่พี่น้องเกษตรกรและผู้สนใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นต่อไป