เชียงใหม่-ม.แม่โจ้ จัดพิธีลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัย และนำเสนอผลงานวิจัยเด่น ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์สู่กระบวนการธุรกิจอย่างมีศักยภาพ“Maejo Licensing and Pitching Day 2021”

เชียงใหม่-ม.แม่โจ้ จัดพิธีลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัย และนำเสนอผลงานวิจัยเด่น ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์สู่กระบวนการธุรกิจอย่างมีศักยภาพ“Maejo Licensing and Pitching Day 2021”

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร (MAP) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดให้มีพิธีลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนำเสนองานวิจัยเด่น “MJU Licensing and Pitching Day 2021” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีเปิด ณ อาคารพัฒนาวิสัยทัศน์ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยแม่โจ้

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี กล่าวว่า “ งานนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ โดยความรู้และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน มีการกระจายรายได้ไปสู่สังคม และมีภูมิคุ้มกันจากกระแสโลกาภิวัฒน์ การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างและต่อยอดองค์ความรู้ให้มีความเท่าทันต่อโลกสมัยใหม่จึงเป็นสิ่งที่ประเทศและสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นงานสำคัญงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์การเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม 2 คือ พัฒนาเทคโนโลยีและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology Development and Innovation) และในปีหน้า เราจะปรับรูปแบบงานให้ใหญ่ขึ้น ให้อยู่ในรูปแบบ Innovation Day เพื่อให้บริษัททั้งใน และต่างประเทศได้มาเชื่อมโยงกัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเป็น Host ในการประชุมนานาชาติอีกหลายเวที ซึ่งเราจะผลักดันในมีการลงนามให้เป็นภาพรวมของมหาวิทยาลัยต่อไป”

ดร.กัลย์ กัลยาณมิตร ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและกระตุ้นแนวคิดเรื่องการนำนวัตกรรมไปใช้ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาจากผลงานวิจัย ให้สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยผ่านช่องทางการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย และเป็นการประกาศเกียรติคุณสำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการทุกท่านที่มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ไปสู่กระบวนการธุรกิจเชิงพาณิชย์อย่างมีศักยภาพ ”
ผลงานวิจัยที่จะเข้าร่วมลงนามอนุญาตใช้สิทธิในผลงานครั้งนี้มี จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่
1.ผลงาน กระบวนการสกัดเย็นกาแฟด้วยเทคนิคอณูศิลปะวิทยาการทางอาหาร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา คงจรูญ สังกัด คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนวนเกษตรอินทรีย์เชียงราย

2.ผลงาน ระบบโรงงานพืชเพื่อการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ โดย
รองศาสตราจารย์ ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี สังกัด คณะผลิตกรรมการเกษตร ร่วมกับบริษัท ซีวิค มีเดีย จำกัด

3.ผลงาน กรรมวิธีการเตรียมน้ำตาลสกัดจากพืชกลุ่มหัวหอม
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ วงศ์พุทธิสิน สังกัด คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท สมาเฮลท์ตี้แคร์ จำกัด

4.ผลงาน กรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทพรรดิ์ นิตยพงศ์ชัย สังกัด คณะเศรษฐศาสตร์
ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนสยามล้านนาแคนนาบิส 420

5.ผลงาน 1) กระบวนการผลิตเครื่องดื่มไมซีเลียมเห็ดหลินจือที่หมักในน้ำลำไยผสมเมล็ดลำไยคั่ว
2) กระบวนการผลิตเครื่องดื่มไมซีเลียมถั่งเช่าสีทองที่หมักในน้ำผลไม้และธัญพืช
3) กระบวนการผลิตเครื่องดื่มไมซีเลียมถั่งเช่าสีทองที่หมักในน้ำตาลตาลทรายและหางนมผสมน้ำผลไม้
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นักรบ นาคประสม และคณะ สังกัด คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมกับบริษัท บิสท์ อินโน รีฟอร์ม จำกัด

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่น มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อีกจำนวน 6 ผลงาน ได้แก่


1.ผลงาน การผลิตแอนติบอดีสำหรับชุดตรวจการตั้งท้องของโค
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ สังงกัด คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี

2.ผลงาน เภสัชภัณฑ์ยาสอดเต้าจากสมุนไพรฝางและว่านหางจระเข้เพื่อรักษาโรคเต้านมอักเสบในโคนมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พชรพร ตาดี และคณะ สังกัด คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี

3.ผลงาน ซุปปลาสกัดผสมสารสกัดกัญชาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระพล เสนพันธุ์ และคณะ สังกัด คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร

4.ผลงาน ปุ๋ยชีวภาพและกรรมวิธีการผลิต (ชีวนวัตกรรมปุ๋ยจุลินทรีย์อัดแท่ง)โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร จันทร์ฉาย สังกัด มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ

5.ผลงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยเพื่อยับยั้งไรศัตรูผึ้งโดยใช้เทคโนโลยีพลาสมาระดับความดันบรรยากาศ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีรนันท์ ไชยมณี สังกัด มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ

6.ผลงาน กระบวนการผลิตสิ่งทอต้านเชื้อแบคทีเรียและแมลงด้วยไมโครแคปซูล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี คงดี อัลเดรด สังกัด คณะวิทยาศาสตร์

ภายในบริเวณงานยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยที่ร่วมลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิ และผลงานวิจัยเด่นอีกหลายผลงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงาน ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดงานภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่าง เคร่งครัด

 

นภาพร/เชียงใหม่